NPL นาโนไฟแนนซ์พุ่ง บริษัทเข้มปล่อยสินเชื่อนาโน
NPL นาโนไฟแนนซ์พุ่ง บริษัทเข้มปล่อยสินเชื่อนาโน
หลังจากที่ นาโนไฟแนนซ์ เปิดบริการมาได้ไม่นานเท่าไหร่ เริ่มมีข่าวออกมาแล้วว่า ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของผู้ประกอบการบางรายที่ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สูงแตะตัวเลข 10% ไปแล้ว ผลจากข้อมูลนี้เลยทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต หรือกำลังยื่นขออนุญาต อาจจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้นเป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเป็นนโยบายของรัฐบาลลุงตู่ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าเคยผลักดันไมโครไฟแนนซ์มาก่อน เพื่อช่วยเหลือคนรากหญ้า แต่ติดปัญหาว่าไมโครไฟแนนซ์มีเงื่อนไขเยอะ เช่นต้องมีคนค้ำประกัน หรือต้องมีหลักทรัพย์เป็นต้น
แต่นาโนไฟแนนซ์นั้นมีเงื่อนไขผ่อนปรนลงมา ไม่ต้องมีทรัพย์สินหรือบุคคลมาค้ำประกัน พิจารณาเฉพาะแนวโน้มการทำธุรกิจก็พอแล้วซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายก็บริหารความเสี่ยงเอง ห้ามรับฝากเงินเพื่อเอามาปล่อยกู้ และวงเงินกู้แต่ละรายก็ไม่เกิน 1 แสนบาท แลกกับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งนับว่ายังต่ำมากหากเทียบกับเงินกู้นอกระบบที่ร้อยละ 5 – 10 ต่อเดือน
หลังจากผ่านมาราว 2 เดือนผลคือเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้กันบ้างแล้ว บางรายกู้เงินไปก็นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือหายตัวไปเลยก็มี เนื่องจากไม่ต้องมีคนค้ำไม่ต้องมีหลักประกันใดๆทั้งสิ้น หรือบางรายเป็นหนี้นอกระบบอยู่แล้ว ก็มากู้เงินนาโนไฟแนนซ์เพื่อไปลงทุนเพิ่มเติม ไหนจะต้องจ่ายหนี้นอกระบบที่ทวงโหดกว่าทำให้นาโนไฟแนนซ์อาจจะเป็นรองในเรื่องการรับชำระเงินคืน
สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็ไม่ดี ตัวเลขจีดีพีก็เหมือนจะลดลงเป็นรายวัน ไหนจะปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ การกลั่นกรองลูกค้าจึงต้องเข้มงวดมาก ทำให้บรรดาผู้มาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ต่างก็ออกมาบ่นกันว่า ยังกู้ได้ยาก เหมือนเดิม
แม้ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์หลายรายจะทำธุรกิจด้านนี้มานาน ซึ่งก็มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์สินเชื่อในระดับหนึ่ง แต่อาจจะเพราะเปิดใหม่เลยมีความเร่งรีบที่จะปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง ก็เลยขาดความระมัดระวังกันมากขึ้น
ผู้บริหารสินเชื่อนาโนก็คงต้องลงมาวิเคราะห์รายละเอียดสินเชื่อกันมากขึ้นว่าลูกค้าแต่ละรายจะกู้ไปทำอะไร อาจจะต้องตามไปดูธุรกิจ สอบถามสภาพแวดล้อม ออกแนวระบบของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ SME ไปเลยว่า รายรับรายจ่ายของผู้กู้มีแนวโน้มอย่างไร จะเอาเงินส่วนไหนมาจ่ายหนี้เป็นต้น
อย่างบางบริษัทออกมาเปิดตัวในลักษณะการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ให้กับผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ต่างๆ เช่น บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว เพราะมองว่าเป็นกิจการสร้างรายได้แน่นอน โดยให้ลูกค้าไปตกลงรายละเอียดกับแฟรนส์ไชส์แล้วก็มากู้เงินนาโนกับบริษัท แต่คาดว่าไม่นานเราคงได้ยินข่าว แฟรนไชส์ร่วมหัวกับนักลงทุนมาหลอกกู้เงินนาโนไฟแนนซ์เป็นแน่หากทางผู้ปล่อยสินเชื่อไม่ดูแลดีๆ
ก็คงต้องรอสักพักละครับที่นาโนไฟแนนซ์จะเริ่มอยู่ตัว ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้คงต้องเรียนรู้ระบบกันไป แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสหนึ่งของรากหญ้าที่จะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการสร้างอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นมาละครับ
หมายเหตุ ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
2942 total views, 1 today