DSI รวบขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ มีเงินหมุนเวียนกว่า 4 พันล้าน
DSI รวบขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ มีเงินหมุนเวียนกว่า 4 พันล้าน
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะผู้กำกับดูแล ศูนย์ปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมพิเศษ และ ผู้แทนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 3, 4, 5, 9 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการบุกค้นจับกุมกลุ่มขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือแก๊งหมวกกันน๊อค ที่มีเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการการกระทำความผิดมากกว่า 2,000 ราย และมีประชาชนที่เป็นลูกหนี้ประมาณ 170,000 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดกว่า 150 ล้านบาท
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ดุษฎี เปิดเผยว่า การจู่โจมตรวจค้นเป้าหมายสถานที่และการเข้าจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 26 จุด ทั้งในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา และ จ.ขอนแก่น สามารถยึดทรัพย์ที่ได้มาหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ได้แก่ รถยนต์ จำนวน 26 คัน รถจักรยานยนต์ จำนวน 86 คัน ตู้นิรภัย จำนวน 14 ตู้ ธนบัตรไทยและเงินสกุลต่างประเทศ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์การสื่อสารและของมีค่าจำนวนหลายรายการ เช่น ทองรูปพรรณสร้อยคอ แหวนเพชร และพระเครื่องนอกจากนี้ได้ดำเนินการอายัดบัญชีเงินฝากจำนวน 28 เล่ม อาวุธปืนจำนวน 4 กระบอกและลูกกระสุนปืน จำนวน 309 นัด โฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5 แปลง รวมทั้งสิ้นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท
สำหรับการจู่โจมเข้าจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ออกหมายจับผู้ต้องหา 2 ราย และสามารถจับกุมได้อีกราย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านไอที ดูแลระบบการจัดเก็บเงินกู้ที่เชื่อมโยงทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
นอกจากนี้แล้วทางเจ้าหน้าที่จะเตรียมขยายผลติดตามตัวและดำเนินการออกหมายจับไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ กว่า 1,000 หมายจับ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.อุทัยธานี เพราะมีรถยนต์กว่า 100 คัน รถจักรยานยนต์อีก 1,600 คัน ป้ายทะเบียนมาจาก จ.อุทัยธานี เบื้องต้น ทางการข่าวตรวจสอบพบว่าขยายการดังกล่าวได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2554 มีเครือข่ายสาขาย่อย 86 สาขาทั่วประเทศ และมีเงินหมุนเวียนในเครือข่าย กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปปง. ดำเนินการวางมาตรการกดดันกลุ่มผู้ต้องหา และเยียวยากลุ่มลูกหนี้
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบดังกล่าวจะเก็บเรียกเก็บดอกเบี้ย 20 เปอร์เซ็นต์ต่อ 25 วัน หากคิดเป็นระยะเวลา 1 ปีเท่ากับ 300 เปอร์เซ็นต์ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถออกจากวงจรดังกล่าวได้ และหากมีร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งได้ตรวจสอบพบว่ามีกว่า 1,000 คนร่วมในการกระทำผิดครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหนี้นอกระบบอีกหลายคดี”
ทั้งนี้คดีนี้ได้รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งได้ร่วมบูรณาการหลายฝ่ายจึงสามารถจับกุมได้ จากการติดตามมากว่า 2 ปี ทั้งจากทางการข่าว และการใช้กฎหมายพิเศษของดีเอสไอในการหาข้อมูล ซึ่งพบว่าเป็นรายใหญ่ของประเทศ มีการปกปิด แอบเปิดบริษัทย่อย และปิด เพื่อพรางตา โดยมีองค์กรต่างๆในการสนับสนุน ทั้งกลุ่มไอที กฎหมาย และผู้มีอิทธิพล ซึ่งมีส่วนกลางในการควบคุม ขยายไปทั่วประเทศ
อ่านฉบับเต็มได้ที่
manager.co.th
2026 total views, 1 today