CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยปี 2561 โต 10-20%
CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อเงินกู้รายย่อยปี 2561 โต 10-20%
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยสำหรับปี 61 เติบโต 10-20% โดยแบ่งเป็นการเติบโตตามประเภทของสินเชื่อ ได้แก่
– สินเชื่อบ้านตั้งเป้าจะปล่อยใหม่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท
– สินเชื่อบุคคลตั้งเป้า 1 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ 8 พันล้านบาท
– สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตั้งเป้าเท่ากับปีนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ตั้งเป้าเท่ากับปีนี้ 3 พันล้านบาทเช่นกัน
ในส่วนของแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในปีหน้านั้น ทางธนาคารมองว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าจะเติบโตที่ประมาณ 3-4% และภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบจะขยายตัวประมาณ 5-10%
ขณะเดียวกันสินเชื่อรายย่อยก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเติบโตของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่สภาพการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับลูกค้าบางกลุ่มของธนาคาร
ในส่วนของสินเชื่อคงค้างรายย่อยของ CIMBT ในปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีนี้ที่ 1.15 แสนล้านบาท สำหรับการเติบโตเพียงเล็กน้อยนั้น เป็นเพราะสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่มีระยะเวลาการชำระคืนรวดเร็ว ทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของธุรกิจรายย่อยมีการเติบโตไม่มาก
อย่างไรก็ตามทางธนาคาร CIMBT ยังคงให้ความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพหนี้ควบคู่ไปกับการขยายตัวของสินเชื่อ โดยในปี 2561 จะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ให้เกิน 3.75% จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 3.75% ซึ่งถือเป็นระดับ NPL ที่สามารถควบคุมได้ดีกว่าเป้าหมายในปีนี้ที่ตั้งไว้ไม่เกิน 4.2%
สำหรับภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 10% มาอยู่ที่ราว 7% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมของธนคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ความต้องการใช้สินเชื่อบุคคลเกิดภาวะชะลอตัวลง
ขณะที่งานเกี่ยวกับธุรกิจสาขาของธนาคารในปี 2561 นั้น จะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนทำเลของสาขาในบางทำเล ที่มีการย้ายมาในทำเลที่มีศักยภาพและตอบโจทย์การให้บริการของธนาคารมากขึ้น อย่างเช่นต้นปี 2561 จะมีการปิดสาขาที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า และย้ายมาเปิดในห้างสรรพสินค้าในทำเลใกล้เคียงกันแทน
นอกจากนี้แล้ว ธนาคารยังคงมองหาทำเลการเปิดสาขาในซุปเปอร์มาร์เก็ต “SPAR” ในปั๊มน้ำมันบางจาก เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและชุมชนมากขึ้น และถือเป็นกลยุทธ์ในการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยให้กับกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกเมือง ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาในปั๊มน้ำมันที่น้อยกว่าสาขาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โดยสาขาในปั๊มน้ำมันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1-2 แสนบาท ส่วนสาขาในห้างสรรพสินค้ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 1-2 ล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดว่าหากสาขาแรกในซุปเปอร์มาร์เก็ต “SPAR” ที่ปั๊มน้ำมันสาขาราชพฤกษ์ โดยหากประสบความสำเร็จก็จะขยายเพิ่มได้อีก 10-30 สาขา ในอนาคต
1084 total views, 1 today