เงินด่วน เงินกู้ ตามเสาไฟฟ้า หรือทางอินเทอร์เน็ต มีจริงหรือ
เงินด่วน เงินกู้ ตามเสาไฟฟ้า หรือทางอินเทอร์เน็ต มีจริงหรือ
ประกาศ เงินกู้ด่วน อนุมัติใน 30 นาที เงินด่วนอนุมัติไว กู้เงินด่วน ติดเครดิตบูโร ก็อนุมัติได้ โดยข้อความสมัยก่อนเดินไปตามท้องถนนในกรุงเทพ จะเห็นป้ายเหล่านี้เต็มไปหมดตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ป้ายรถเมล์ ปัจจุบันจะกลายเป็นว่าเห็นประกาศเหล่านี้มากมายตามเว็บบอร์ดต่างๆ ตามหน้าเฟสบุ๊ค หรือแค่ค้นหาคำเหล่านี้บน google ก็จะพบกับเว็บไซท์เงินด่วนเงินกู้เป็นจำนวนมาก
หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันมีจริงหรือ วงเงินบัตรเต็ม ติดบูโร แล้วยังกู้ได้อีกเหรอ แล้วการปล่อยกู้เป็นวิธีไหน อย่างไร ถ้าอยากรู้ก็ล้อมวงเข้ามาเลยครับ
สิ่งแรกที่ต้องบอกกล่าวกันก่อนก็คือว่า ประกาศเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายไปสองด้านคือ พยายามหลอกลวงเอาเงินจากคุณ กับพยายามให้คุณเป็นลูกค้าเงินกู้จริงๆ โดยนายทุนแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย
เรามาดูในประเด็นที่น่าสนใจกันก่อน นั่นก็คือการปล่อยกู้ที่มีอยู่จริงนั่นเอง ว่าเขาปล่อยกู้ด้วยวิธีไหน
การปล่อยกู้ที่มีอยู่จริง
สำหรับคนที่เดือดร้อนเรื่องเงินทองแล้วละก็ ต่างก็พยายามมองหาแหล่ง เงินกู้ ที่ กู้ได้เร็ว อนุมัติไว ยอดเงินสูงๆ ผ่อนจ่ายแต่ละเดือนต่ำๆ ถ้าผิดพลาดอย่างไร ก็ขออย่าให้มีภัยเข้าถึงตัวก็พอใจแล้ว
ในฝั่งนายทุน ก็ต้องมองหาลูกหนี้ที่เมื่อได้รับเงินไปแล้ว ผ่อนจ่ายมาจริงๆทุกเดือน ไม่หนี ไม่หาย เพราะเงินที่เบิกออกไปเป็นก้อนใหญ่ ความเสี่ยงที่ลูกหนี้เบิกเงินไปแล้วหนีไปเลยนั้นยอมรับไม่ได้ เครียด ต้นหายกำไรหด ดังนั้นต้องหาวิธีลดความเสี่ยง แล้วได้กำไรเยอะๆ
จะเห็นว่าความต้องการทั้งสองฝั่งมันแทบจะต่างกันไปคนละด้าน เหมือนการซื้อขายของทั่วไป ที่คนซื้ออยากได้ของราคาถูก ส่วนคนขายอยากขายราคาแพง
ระบบแบบนี้ เงินกู้ในระบบต่างๆ ไม่ว่าผ่านสถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร หรือไฟแนนซ์ต่างๆ ต่างก็ต้องการลดความเสี่ยง ด้วยการหาหลักประกันในการชำระหนี้ เช่น เงินเดือน รายได้ประจำ ที่เชื่อว่าลูกหนี้น่าจะมาจ่ายหนี้คืนได้ การนำทรัพย์สินมา จำนำ จำนอง ขายฝาก เพื่อที่ว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จะเอาทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อเอาเงินกลับคืนมา
แล้วคำถามที่เกิดขึ้นคือ คนที่ปล่อยกู้ที่เห็นประกาศตามเสาไฟฟ้า เขาปล่อยกู้อย่างไร
อันดับแรก อย่าไปจินตนาการว่า คนที่ปล่อยกู้เหล่านั้นจะเป็นนายทุนเงินกู้แถวในหมู่บ้าน นั่นเพราะหากท่านเป็นลูกค้าที่ดี มีงานประจำ ก็ไปสมัครเงินกู้ในระบบ อย่างบัตรอิออน เฟิร์สช้อยซ์ ยูเมะ กันไปหมดแล้ว ถ้าไม่มีงานประจำ เป็นแม่ค้า ก็จะมีแหล่งนายทุนเงินกู้นอกระบบคอยให้บริการอยู่
กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ มีหลักแหล่งการทำมาหากินที่ชัดเจน นายทุนเห็นอยู่ประจำว่าลูกค้ามากหรือไม่ จะมีกำลังในการชำระหนี้คืนหรือไม่ ประเมินได้เองเลย และหากลูกหนี้จะหนี แสดงว่าก็ต้องทิ้งอาชีพแม่ค้าพ่อค้าในละแวกนั้นไป
ดังนั้นบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้จะรู้แหล่งเงินกู้ดีว่า จะไปกู้กับใคร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ หากคุณต้องการกู้ในลักษณะนี้ แนะนำว่า ให้ลองถามแม่ค้าใกล้บ้านก็จะรู้แหล่งเงินกู้ทันที ซึ่งหากเราไปติดต่อเขาก็จะซักถาม ขอไปดูกิจการ ขอไปดูบ้าน ก็ใช้เวลาพอสมควร ถ้าเป็นหน้าใหม่ดอกก็จะแพง บางรายต้องให้เอาทรัพย์สินมาค้ำเป็นต้น
จึงเป็นไปได้น้อยที่ท่านจะเห็นประกาศนายทุนเงินกู้แบบนี้ตามเสาไฟฟ้า หรือตามอินเทอร์เน็ต เพราะเขาไม่ได้ต้องการลูกค้ามากมาย เสียเวลาไปตามดูตามสืบ แค่แนะนำแบบปากต่อปากระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากันเอง เขาก็ปล่อยกู้จนร่ำรวยมานักต่อนักแล้ว
ดังนั้นหากท่าน ติดต่อคนที่ลงประกาศในเว็บนี้ แล้วเขายอมปล่อยกู้ให้ท่านจริงๆ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือเอาทรัพย์สินของท่านไปจำนองจำนำ คือปล่อยกู้เหมือนนายทุนในตลาดแล้วละก็ กรุณาบอกแอดมินหน่อย เพราะแอดมินจะได้ปักหมุดให้เขาฟรีๆ ทุกคนจะได้พ้นความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
แล้วเงินกู้ตามเสาไฟฟ้าเขาปล่อยกู้อย่างไร
เราก็จะเริ่มมาเข้าเรื่องกันเลย ว่านายทุนเหล่านี้เขามีวิธีการไหนในการปล่อยกู้ เริ่มตั้งแต่ในอดีต เมื่อมีคนร้อนเงิน แสดงว่าเขายื่นกู้ในระบบไปเต็มเหนี่ยวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน สหกรณ์ บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต ต่างๆ เต็มวงเงินหมดแล้ว แต่มีความจำเป็นเช่น พ่อแม่ป่วยหนัก ประสบอุบัติเหตุ ค่าเทอมลูกหลาน ไปโดนคดีแล้วโดนเรียกค่าเสียหายมาเป็นต้น
เหตุเหล่านี้จะหันไปพึ่งเงินในระบบก็เต็มวงเงินหมดแล้ว จะไปหยิบยืมญาติต่างก็มองไม่เห็นหนทางที่จะได้เงินคืนเลยอาจจะไม่ยอมช่วย หรือเคยช่วยมาเยอะแล้วจนระอา ทำให้ลูกหนี้เหล่านี้ต้องพึ่งเงินนอกระบบ
และตามที่กล่าวข้างต้น เจ้าหนี้เงินกู้แบบในตลาดนั้น เขาเห็นความเสี่ยงมากองอยู่ตรงหน้า เขาเห็นคนที่จะมากู้สร้างหนี้มาจนเต็มที่แล้ว จะมากู้เพิ่มอีกแล้วเดือนหน้าจะเอาเงินที่ไหนมาชำระคืน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง และนายทุนได้กำไร ลูกหนี้ได้เงินก้อนไปปลดทุกข์ กรรมวิธีการกู้เลยเกิดขึ้น
ซัก 30 ปีก่อน ก็จะเป็นสินค้าไอที พวกทีวีจอแก้วจอใหญ่ โน้ตบุ้ค คอมพิวเตอร์ ซึ่งสมัยนั้นราคาหลักหมื่นหลักแสน คนทั่วไปก็ต้องใช้วิธีผ่อนเอา ด้วยเงินดาวน์น้อยๆ ตัวอย่างเช่น โน้ตบุคเครื่องหนึ่งสมัยนั้นราคา 30,000 บาท
ลูกค้าก็ซื้อจากร้านตัวเอง ด้วยบัตรผ่อนสินค้าจากไฟแนนซ์ในระบบ ราคารวมดอกเบี้ยผ่อนสองปีสมมุติว่า 35,000 บาท รูดบัตรเสร็จ ไฟแนนซ์อนุมัติ ลูกค้าก็ได้เครื่องมาถือไว้ อาจจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แล้วลูกค้าก็ขายคืนเป็นเงินสดให้กับร้านที่ราคา 20,000 บาท ที่เหลือลูกค้าก็ผ่อนไปที่เดือนละประมาณ 1,460 บาทต่อเดือนจำนวน 24 เดือน เท่ากับลูกค้าได้เงินเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของเงินที่เสืยไปทั้งหมด ในระยะเวลาสองปี
เทียบกับเงินกู้นอกระบบหากกู้ที่ 20,000 บาท แล้วต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือเดือนละ 1,000 บาท รวม 24 เดือน ดอกเบี้ยจะเป็น 24,000 บาท (ไม่ลดต้นลดดอก) รวมแล้วเสียเงินทั้งสิ้น 44,000 บาท ซึ่งนับว่ายังน้อยกว่า 35,000 ที่ตัวเองต้องผ่อนผ่านบัตรตั้ง 9,000 บาทด้วยกัน
ฝั่งทางร้าน ซื้อกลับมาในราคา 20,000 บาท เสมือนใหม่ แต่จะนำเข้าสต้อคไม่ได้ ก็ขายเป็นสินค้าราคาตัวโชว์ ที่ 25,000 บาท ก็ได้กำไรแบบ win-win 5,000 บาท ไหนจะยอดเงินที่ได้จากบริษัทบัตรผ่อนสินค้าอีก แถมทำยอดขายได้ทะลุเป้า แฮบปี้ทุกฝ่าย
หากลูกค้าได้สินค้าไปแล้วไม่ผ่อน ความเดือดร้อนไม่ได้อยู่ที่ร้าน แต่อยู่ที่ไฟแนนซ์บริษัทเจ้าของบัตร ที่ต้องไปตามทวงหนี้สินกันเอาเอง ร้านไม่เกี่ยว เท่ากับร้านไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย แล้วถ้าลูกค้าไปแจ้งความว่าโดนหลอก ก็คงไม่ใช่เพราะลูกค้าเมื่อซื้อเงินผ่อนผ่านบัตรไป สินค้าเป็นของลูกค้าแล้ว ย่อมมีสิทธิโอนขายได้ไม่ผิดกฏหมายอะไร จะไม่ผ่อนซักเดือนหรือผ่อนไปบ้างแล้วหยุดผ่อน ก็ไม่เกี่ยวกับร้านแล้ว เพราะซื้อขายกันถูกต้อง ระบบนี้ร้านค้ามักจะมีเครือข่ายของตัวเองคือร้านขายสินค้ามือสองที่จดทะเบียนเสียภาษถูกต้อง แต่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับร้านขายของมือหนึ่งนั่นแหละครับ
แต่หากลูกค้าทนผ่อนจนหมด จะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องการเพราะ ประวัติลูกค้าก็ไม่เสีย บริษัทไฟแนนซ์เจ้าของบัตรก็ไม่เสียหาย ร้านค้าก็ไม่ต้องเป็นกังวลอะไร ทุกอย่างก็ win-win กันไปกับทุกฝ่าย
พัฒนาการของการบริการเงินด่วนในลักษณะนี้ก็ย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อสินค้าไอทีเริ่มมีให้เลือกมากมาย ราคาไม่แพง ความต้องการลดน้อยลง ร้านปล่อยเป็นสินค้ามือสองได้ยากขึ้น ก็เริ่มกดราคารับซื้อคืนลง ก็ต้องเปลี่ยนตัวสินค้ากันไปตามยุคสมัย
แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสินค้าไอที เช่น กล้องถ่ายภาพดิจิตอล โทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆที่มีราคาแพง และเป็นความต้องการของตลาด ซึ่งก็แล้วแต่ภาวะของตลาดในยุคนั้นๆ สรุปง่ายๆก็คือ ต้องเป็นสินค้าที่ทางร้านค้าสามารถขายออกได้โดยง่าย เพื่อจะได้มีกำไร มีเงินหมุน สินค้าไม่ตกรุ่นเร็วเป็นต้น
สินค้าชนิดหนึ่งที่ได้ราคาดี และความต้องการในตลาดมีสูงอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือ ทองคำ ซึ่งสังเกตได้ว่าร้านขายทองส่วนใหญ่จะรับให้ผ่อนทอง หรือเปิดให้ลูกค้าใช้บัตรผ่อนสินค้าได้แทบทุกเจ้าในไทย ซึ่งหลักการก็เหมือนด้านบน ก็คือลูกค้ารูดบัตรซื้อทองคำ กับร้านทอง แล้วขายคืนได้เงินก้อน แล้วค่อยผ่อนจ่ายไปกับบริษัทบัตรผ่อนสินค้านั้นๆไป
ยุคต่อมาเมื่อสินค้าไอทีเต็มบ้านเต็มเมือง หาซื้อได้ไม่ยาก สินค้าจากประเทศจีนล้นตลาด ความนิยมในตัวสินค้าเหล่านั้นจึงหมดไป สินค้ายุคสมัยต่อมาก็เลยจะเป็นกลุ่มยานพหานะ เช่นรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์
ในกลุ่มรถยนต์ ก็จะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการวงเงินสูงๆ ในหลักแสนบาท ส่วนมอเตอร์ไซค์ก็จะอยู่ในหลักหมื่นบาท แต่ปัญหาของสินค้าสองชนิดหลังก็คือจะเป็นลักษณะของการเช่าซื้อผ่านไฟแนนซ์
นั่นคือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ตกอยู่กับผู้ซื้อทันทีจนกว่าจะผ่อนรถจนครบทุกงวด ดังนั้นราคารับซื้อจากนายทุนจึงถูกกดราคาให้ต่ำลงมากกว่าปกติ เนื่องจากความเสี่ยงในประเด็นข้อกฏหมาย หากลูกค้าไม่ผ่อนต่อกับไฟแนนซ์ แต่ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้กู้ในระดับหนึ่ง
ลูกค้าก็ไปดาวน์รถมาหนึ่งคัน เอามาขายให้กับร้านรับซื้อแบบมือสองแบบไม่มีทะเบียน ได้เงินก้อนไป ลูกค้าก็ผ่อนไปเรื่อยๆจนหมด เพียงแต่ไม่ได้ใช้รถคันนั้น ถึงจะได้เล่มมาในตอนท้าย ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรแล้ว แต่จำเป็นต้องผ่อนจนหมดเพื่อไม่ให้เสียประวัติ คำนวนทุกอย่างแล้ว ย่อมถูกกว่าไปกู้เงินนอกระบบแบบ 5% ต่อเดือนแน่นอน
ร้านค้าได้ขายรถออกไป ทำยอดขายได้ ไฟแนนซ์ก็ได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยครบ ลูกค้าได้เงินสดมาใช้จ่าย นายทุนก็ได้รถไป จะเอาทำอย่างไรก็แล้วแต่เพื่อให้ได้เงินคืนกลับมา ทุกอย่างก็ win-win เหมือนยุคของโน้ตบุ้ค ทีวี สมัย 30 ปีที่แล้วนั่นแหละครับ
แต่หากลูกค้ามีปัญหาในภายหลัง ไม่ยอมผ่อนชำระ ก็ไม่ใช่ความเดือนร้อนของร้านค้า แต่เป็นปัญหาของไฟแนนซ์เองที่ต้องดำเนินตามกระบวนการของเขาไป
นั่นแสดงว่า นายทุนเงินกู้ในลักษณะนี้ ไม่ต้องจ้างคนเก็บเงิน ไม่ต้องจ้างคนทวงหนี้ ไม่ต้องจ้างทนายฟ้องร้อง ปล่อยให้ผู้ที่ถนัดงานแบบนี้อย่างบริษัทไฟแนนซ์ที่ปล่อยกู้นั่นแหละเป็นคนดำเนินการไป นายทุนได้กำไร ทุกอย่างจบในตัวเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องทวงหนี้เลย เหมือนกับกรณีสินค้าไอทีในอดีตนั่นเอง
ดังนั้นการจะกู้ได้หรือไม่ได้ จึงไม่ได้ขึ้นกับอะไรมากมาย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเครดิตของลูกค้าเอง ว่าไฟแนนซ์จะยินยอมให้กู้ผ่านหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการขอเอกสารทางด้านการเงินต่างๆ เหมือนกับการกู้เงินในระบบปกตินั่นเอง
การปล่อยกู้จากมิจฉาชีพ
ประกาศปล่อยเงินกู้ตามเสาไฟฟ้า หรืออินเทอร์เน็ตอีกแบบหนึ่งก็จะตกอยู่ในกลุ่มนี้ ด้วยคำมั่นสัญญาว่ากู้เงินด่วน กู้ได้เร็ว กู้ได้จริง ดอกเบี้ยต่ำ ชักชวนให้ลองติดต่อโทรไปดู
สำหรับคนเดือดร้อนเรื่องเงินทองแล้ว ไม่ว่าจะวิธีไหนก็แล้วแต่ จะต้องหาเงินก้อนมาบรรเทาทุกข์ให้ได้ ทำให้เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเหล่านี้ฉวยโอกาสทำมาหากินกับเหยื่อที่เดือดร้อนเรื่องเงินให้ยิ่งเสียเงินเข้าไปอีก
ลองพิจารณาดูตามเหตุผลข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว นายทุนเงินกู้เองก็ไม่อยากเสี่ยงปล่อยกู้ไปแล้วเกิดลูกค้าหนีหนี้ขึ้นมาแล้วจะตามทวงอย่างไร คนที่เขาปล่อยกู้ในลักษณะนี้จริง แค่ปากต่อปาก ก็มีลูกหนี้มาหาถึงบ้านแทบจะทุกวันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศให้ใครรู้หรอก เพราะเสียเวลาคัดกรองลูกหนี้ การจะได้ลูกค้ารายใหม่มา มักจะมาตามคำแนะนำเท่านั้น
และที่สำคัญคือ ลูกหนี้เหล่านี้เดือดร้อนเงิน หากเป็นพนักงานเงินเดือนประจำ แสดงว่าวินัยการเงินไม่ดี กู้เงินในระบบจนไม่มีทางจะไปแล้วมากู้เงินนอกระบบ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายคืน ส่วนคนที่ไม่มีงานประจำยิ่งแล้วใหญ่ จะให้ตามบี้ตามทวงไปทั่วก็คงเสียเวลามากมาย ไม่มีนายทุนคนไหนจ้างทีมงานมากมายไว้ทวงหนี้ข้ามจังหวัด หรือข้ามเขคให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ดังนั้นนายทุนประเภทนี้จะปล่อยกู้จำกัดอยู่ในละแวกบ้านตัวเองเท่านั้น เขาไม่มาประกาศในอินเทอร์เน็ตแน่นอน หากอยากหานายทุนประเภทนี้ ต้องถามแม่ค้าในตลาดแถวบ้าน
นายทุน เงินกู้ ลักษณะนี้ จะทำกิจการมานานแล้ว มีบารมี และอิทธิพลสูงที่จะทำให้ลูกหนี้เกรงใจ คิดเหรอว่าเขาจะไปเดินปิดประกาศตามเสาไฟฟ้า หรือมานั่งโพสในเว็บบอร์ด เขาแค่นั่งรอลูกค้าเข้ามาหาที่บ้านก็แทบจะรับลูกค้าไม่หวาดไม่ไหวแล้ว
ดังนั้นเงินกู้ในรูปแบบนี้ ไม่มีจริง รับรองโดนหลอก 100% จุดประสงของการติดป้ายประกาศไปทั่ว ก็เพื่อหาเหยื่อเท่านั้น เมื่อมีคนโทรเข้าไป ก็จะทำทีว่าปล่อยกู้จริง ขอเอกสารต่างๆ น่าเชื่อถือ บางคนถึงกับนัดเจอหน้ากัน เซ็นสัญญาเรียบร้อย ผ่านไปไม่นานฝ่ายผู้กู้ร้อนใจว่าทำไมเงินกู้ยังไม่ออก ก็ถึงเวลาเชือดเขาหละครับ
นั่นคือผู้กู้จะต้องโอนเงินค่าต่างๆ เท่าที่เขาจะคิดออกมาให้ดูดี สมเหตุสมผลเช่น
– ค่าสัญญา ค่าทนาย ค่าเดินเอกสาร
– ค่าเลี่ยงบูโร ค่าเลี่ยงสลิปเงินเดือน คือถ้าเอกสารอะไรขาดไป ก็จ่ายเป็นเงินสดได้ว่างั้น
– ค่าประกันหนี้สูญ บอกว่าให้เราไปซื้อประกันกับธนาคารแต่อาจจะใช้เวลานาน ซื้อผ่านเขาอนุมัติทันที
– ค่าทำบัตรเงินกู้
– ค่าอื่นๆ แล้วแต่สถานการณ์
ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะสูงขึ้นตามยอดเงินที่เราต้องการ ดังนั้นหากเราต้องการจะกู้ซักราวๆ 20,000 อาจจะโดนหลอกให้โอนเงินราว 1,000 – 3,000 บาท แต่หากเราต้องการกู้หลักแสนเขาก็จะหลอกให้เราโอนเงินในหลักหมื่นบาทเป็นต้น
หากเราหลงเชื่อโอนเงินไป ไม่ว่าทางไหน เช่นเงินสด หรือทรูมันนี่ ก็จะติดต่อเขาไม่ได้อีกเลย หรือโทรติดแต่ไม่รับสาย เพราะเขาหมดหน้าที่กับเราแล้ว จะได้ไปหลอกเหยื่อรายต่อไป
เราลองมาเที่ยบดูว่าเวลาเรากู้เงินจากธนาคา เขามีค่าธรรมเนียมก็จริง แต่เขาจะหักไปจากเงินกู้เลย ในระบบธนาคารหรือไฟแนนซ์ การสมัครและประเมินศักยภาพของผู้กู้จะไม่มีค่าธรรมเนียม นั่นคือเรายื่นเอกสารต่างๆครบ เขาตรวจสอบแล้วหากไม่ผ่านเขาก็แจ้งมาโดยท่านไม่ต้องเสียอะไรเลย แต่หากผ่านเขาก็จะแจ้งยอดเงินที่ท่านจะกู้ได้ จากนั้นก็จะนัดตรวจสอบหลักประกัน ถึงตอนนี้อาจจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากท่าน เพราะคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหลักประกันคือบริษัทตัวแทนข้างนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เช่นตรวจสภาพรถยนต์เป็นต้น
การจ่ายค่าธรรมเนียมตรงนี้ แสดงว่าผู้ปล่อยกู้จะปล่อยให้แน่ๆอยู่แล้ว มีหนังสือแจ้งมายังผู้กู้เรียบร้อยว่าให้กู้ได้เท่าไหร่ ถ้ารับเงินค่าธรรมเนียมไปแล้วแต่สุดท้ายไม่ปล่อยกู้ให้เรา เราก็สามารถเรียกร้องเงินส่วนนี้คืนได้ เพราะมีหลักฐานเป็นเอกสารครบ
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมอะไรก็ตาม เช่นค่าประกัน ค่าธรรมเนียม ค่าบัตร ท่านจ่ายไปแล้วจะได้รับใบเสร็จรับเงินพร้อม จึงมีหลักฐานชัดเจน หากเป็นการดำเนินการของระบบสถาบันการเงิน
ส่วนบรรดาเจ้าหน้าที่หาลูกค้าบัตรเครดิตหรือบัตรเงินสดต่างๆ เขาจะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากสถาบันการเงินโดยตรง เขาไม่มาเก็บอะไรจากคนที่สมัครทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ว่าระบบการค้าใดๆ ผู้ที่เป็นนายหน้า หาลูกค้ามา จะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า แต่จะไปรับเงินจากฝั่งเป็นผู้ขายหรือผู้บริการแทน
และที่สำคัญหากเป็นเงินกู้นอกระบบที่แท้จริง ถ้าจะมีค่าธรรมเนียมอะไรก็แล้วแต่ เขาจะหักจากยอดเงินกู้ในวันที่เราไปรับเงินกู้เลย ไม่มีการเรียกร้องเงินค่าธรรมเนียมใดๆ ก่อนล่วงหน้าแน่นอน
จำไว้เลยว่า เงินกู้นอกระบบรายใด เรียกเก็บเงินใดๆ ก่อนที่จะจ่ายเงินกู้ให้กับเรานัน โกง 100 %
ดังนั้นหากท่านติดต่อไปยังประกาศเงินกู้ใดๆ ก็ตาม ก็ให้พิจารณาให้ดีว่า เขาจะตกอยู่ในกลุ่มไหน ระหว่างสองกลุ่มนี้ คือระหว่าง มิจฉาชีพ กับการผ่อนสินค้า (หรือรับจำนำทรัพย์สิน) รับรองว่าไม่มีนายทุนที่ปล่อยกู้แบบตามในตลาดมาติดประกาศหาลูกค้าตามเสาไฟฟ้า หรือตามอินเทอร์เน็ตแน่นอน
การปล่อยกู้แบบไม่มีหลักประกัน ทำให้นายทุนหน้าใหม่เจ็บตัวแล้วเจ๊งมานักต่อนักแล้ว อย่าหลงเชื่อว่าจะได้เงินกู้จริงหากท่านต้องโอนเงินไปให้เขาก่อน ถ้าเขาทำทีว่าเป็นเงินกู้ในระบบ สามารถทำให้คุณกู้ในระบบผ่านได้ง่าย โดยท่านต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเลี่ยงอะไรต่างๆนั้น ไม่มีจริง เพราะพอเข้าระบบแล้วลูกหนี้แบบนี้ต้องถูกกฏเหล้กของระบบคัดทิ้งอยู่ดี ใครเป็นคนอนุมัติเขาจะเห็นหมด คนที่ดำเนินการจะทำผิดกฏบริษัททันที ใครอยากตกงานก็คงทำแบบนี้อยู่หรอกครับ
บริษัทปล่อยกู้เขาไม่ใช่องค์กรการกุศล เขาพิจารณาตามข้อมูลความเสี่ยง เพื่อหากำไรสูงสุด พนักงานคนไหนอนุมัติคนที่ขาดคุณสมบัติเข้ามาก็ต้องโดนลงโทษตามกฏของบริษัทอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นอย่าเชื่อคำกล่าวอ้างที่ว่าเขาทำงานในบริษัทไฟแนนซ์แล้วจะอนุมัติให้ท่านได้แม้ท่านจะประวัติไม่ดีก็ตาม
สรุปอีกที โอนเงินก่อน โกงทุกราย ให้เลิกติดต่อทันที
62528 total views, 1 today