คลังระบุพิโคไฟแนนซ์ โตต่อเนื่อง
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่าในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันได้เริ่มมีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ ประเภทพิโคพลัสแล้วเช่นกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประเภท ได้แก่
1 สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชน ได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไร ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี
2 สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ ประเภทพิโคพลัส มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไร ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรกและให้เรียกเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปีสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาท
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น ยังสามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” หรือ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ได้อีกด้วย
ในส่วนสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์) นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ จนถึง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยมีจำนวนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 1,051 ราย ใน 76 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคำขออนุญาตประเภทพิโคพลัสจำนวน 21 ราย สำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่
– นครราชสีมา 91 ราย
– กรุงเทพมหานคร 78 ราย
– ขอนแก่น 55 ราย
ทั้งนี้ มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 124 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 927 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 583 ราย ใน 70 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 494 ราย ใน 65 จังหวัด และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 462 ราย ใน 65 จังหวัด
สำหรับสถิติสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 84,022 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 2,160.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,717.11 บาท ต่อบัญชี ประกอบด้วย
สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 41,022 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,272.37 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.88 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 43,000 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 888.43 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 41.12 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
ในขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30,896 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 753.64 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 3,176 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 84.95 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.27 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 2,266 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 38.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.11 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม
4356 total views, 3 today