กองทุนหมู่บ้าน เงินกู้ไม่มีดอก กลางเดือนกันยายนนี้
กองทุนหมู่บ้าน เงินกู้ไม่มีดอก กลางเดือนกันยายนนี้
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนหมู่บ้านฯ ที่อยู่ในระดับเกรด เอ และ บี ประมาณ 59,850 แห่ง มีความพร้อมที่จะกู้เงินจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านฯ แบบไม่มีดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป
ล่าสุดทาง สทบ. ได้เตรียมนัดตัวแทนกองทุนหมู่บ้านฯ จาก 20 จังหวัด มาหารือถึงรูปแบบการดำเนินงาน จากนั้นราวสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับธนาคารทั้ง 2 แห่ง เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการกู้ให้ชัดเจน ก่อนที่จะให้กองทุนหมู่บ้านฯที่มีความพร้อมเริ่มกู้เงินจากธนาคาร และนำมาปล่อยก็ให้กับสมาชิกทันที
ทั้งนี้ในประเด็นเงื่อนไขของมาตรการดังกล่าวที่กำหนดให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านฯแห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ทาง สทบ. จะขอนำกลับไปพิจารณาความเหมาะสมก่อนว่า วงเงินดังกล่าวมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายให้มากกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากบางกองทุนมีขนาดใหญ่และมีสมาชิกจำนวนมาก ทำให้กรอบวงเงินที่กำหนดไว้เดิมอาจไม่เพียงพอ โดยทาง สทบ. จะหารือกับธนาคารให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
ด้าน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ทางรัฐบาลเตรียมมอบนโยบายการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวให้กองทุนหมู่บ้านฯ ได้เริ่มกู้เงินโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐบาลต้องการให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกันการกู้เงินครั้งนี้ จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วน พ.อ.อ.สมมาตร์ บุญโยประการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนหมู่บ้านฯ และประธานกองทุนหมู่บ้านฯ จังหวัดราชบุรีกล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ทาง สทบ.ได้มีการเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน และประธานกองทุนหมู่บ้าน 4 ภาค มาหารือทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว
โดยขณะนี้กองทุนหมู่บ้านฯในระดับเอ และบี มีความพร้อมกู้เงินแล้ว ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ก็ตื่นเต้น และอยากเข้ามาขอกู้เงินเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ก็ต้องรอพิจารณาเงื่อนไขให้ชัดเจนจากธนาคารก่อน โดยรูปแบบการปล่อยกู้ให้สมาชิกนั้น ในเงื่อนไขเบื้องต้นได้กำหนดให้ปล่อยก็รายละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งบางกองทุนอาจต้องปรับลดลงเหลือรายละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อจะได้กระจายเงินให้ถึงมือสมาชิกได้จำนวนมากที่สุด
สำหรับมาตรการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้แห่งละ 30,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านในระดับเอ และบี แห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้เงื่อนไขการปล่อยกู้ดังกล่าวจะไม่ให้กองทุนหมู่บ้านฯ นำเงินไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิม มีระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา และต้องทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 58 ซึ่งการคิดอัตราดอกเบี้ยนั้น ในช่วง 2 ปีแรกจะปลอดดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3 – 7 คิดดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงินบวกส่วนเพิ่ม 1% แต่ไม่เกิน 4% ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลจะเข้าไปชดเชยดอกเบี้ยให้วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท
ที่มา dailynews.co.th
6702 total views, 1 today