ธนาคารออมสิน อธิบาย เงินกู้ผู้สูงอายุจากบ้านปลอดภาระ
ธนาคารออมสิน อธิบาย เงินกู้ผู้สูงอายุจากบ้านปลอดภาระ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ในหัวข้อ “บ้านคนชรา” ซึ่งมีการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ว่า
ในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ นั้นคือจะมีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประขากรไทยทั้งหมด หรือเทียบได้เกือบ 20 ล้านคน อันนับเป็นภาระใหญ่นั่นเพราะต้องใช้คน 3 คนดูแลผู้สูงวัย 1 คน
ด้วยเหตุนี้ทางธนาคารออมสิน ได้เตรียมการในการเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงวัย โดยอาจจะให้ดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราพิเศษกว่าปกติ ให้กู้เงินเพื่อนำไปใช้ในการค้าขาย ให้สินเชื่อการเคหะแก่บุตรหลานที่ดูแลบุพการีด้วยการเอาพ่อแม่มาอยู่บ้านด้วย โดยอาจให้ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ในปีแรกเป็นต้น
สำหรับเงินกู้รูปแบบใหม่ที่กำลังจะออกมาคือ สินเชื่อบ้านย้อนกลับ (รีเวิร์ส มอร์ท์เกจ – Reverse Mortgage ) ด้วยอาศัยหลักการที่ว่า ปกติแล้วคนเราผ่อนบ้านตั้งแต่หนุ่มสาวจนอายุ 60 ปีถึงจะค่อยผ่อนหมด พอผ่อนหมดรายได้ก็หมดลงด้วยเพราะไม่ได้ทำงาน
เลยมีแนวคิดว่าให้เอาบ้านกลับมาจำนองใหม่ แล้วให้ผู้สูงวัยค่อย ๆ ทยอยเบิกเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นรายเดือน ซึ่งหลักการนี้ในต่างประเทศเขาทำกันมานานแล้ว
โดยการเบิกเงินกู้นั้น ธนาคารออมสินให้เบิกได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินปัจจุบัน เบิกได้ตั้งแต่อายุ 60 ไปจนไม่เกิน 85 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุตรหลาน ที่อาจมีเงินไม่พอเลี้ยงดูพ่อแม่ หากเบิกไปจนผู้สูงวัยเสียชีวิต หน้าที่ก็ตกมาที่ลูกว่าจะซื้อบ้านคืนหรือไม่
ตัวอย่างเช่น สมมติบ้านราคา 2 ล้านบาท เบิกเงินไป 1.4 ล้านบาท ตอนเสียชีวิตราคาบ้านอาจขึ้นเป็น 3 ล้าน ก็ให้ลูกมาซื้อคืนกลับไปที่ราคา 1.4 ล้านบาท ทางธนาคารไม่ได้คิดเอากำไรเพราะเป็นการจำนองไม่ได้เป็นการขายให้กับธนาคาร
แต่หากไม่มีเงินซื้อคืนไปจากธนาคารออมสิน ทางออมสินก็ให้กู้ได้ หรือไม่เอา ธนาคารออมสินก็จะขายทอดตลาด ได้เงินมา 2.5 ล้าน แต่มีหนี้ 1.4 ล้าน ก็คืนให้บุตรหลาน 1.1 ล้าน แต่ถ้าขาดทุนแบงก์รับภาระไว้เอง แต่จริงๆมองว่าบ้านจะมีราคาสูงขึ้น และทายาทน่าจะมาเอาบ้านกลับไป
นายชาติชาย ยังกล่าวต่ออีกว่า สำหรับความเสี่ยงกับธนาคารก็มีอยู่บ้าง นั่นคือถ้าผู้สูงวัยกู้ถึงอายุ 85 ปี แล้วยังไม่เสียชีวิต เอาบ้านไปประเมินราคาใหม่ หากราคาสูงขึ้นเราก็ให้กู้ต่อได้ แต่หากประเมินใหม่ แล้วเกิดราคาสินทรัพย์ลด ทางธนาคารออมสินให้กู้เพิ่มไม่ได้ ขายทอดตลาดก็อาจได้เงินคืนไม่ครบที่ปล่อยกู้ไป
แต่หากมองในแง่ดี ในประวัติศาตร์ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ มีแค่ครั้งเดียวคือยุคฟองสบู่แตกปี 2540 ที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง นอกนั้นไม่เคยลดลงเลย แล้วผ่านมาตั้งแต่ปี 40 จนถึงปัจจุบัน ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่ ซึ่งผ่านไป 10-20 ปี น่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นแน่นอน
ส่วนประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถนำมาจำนองได้นั้น เริ่มต้นธนาคารออมสินรับบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรโดยให้กู้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคอนโดให้ได้ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีค่าส่วนกลาง เวลาคนอยู่คอนโดไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง ธนาคารต้องไปจ่ายแทนลูกบ้าน นายชาติชาย กล่าวสรุป
2226 total views, 2 today