ครม. ไฟเขียวให้ ธกส ออมสิน ปล่อยกู้หมื่นล้าน แก้หนี้นอกระบบ
ครม. ไฟเขียวให้ ธกส ออมสิน ปล่อยกู้หมื่นล้าน แก้หนี้นอกระบบ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (21 กุมภาพันธ์) ได้มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ด้วยวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการโดย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปล่อยกู้แห่งละ 5,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
โดยโครงการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการใหญ่ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้ โดยจะรวมไปถึงการจดทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบ ให้ทำธุรกิจปล่อยเงินกู้รายย่อยอย่างถูกกฎหมาย หรือพิโกไฟแนนซ์อีกด้วย
ทั้งนี้ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า สำหรับครงการสินเชื่อที่ ครม. เห็นชอบนั้น เป็นสินเชื่อเงินกู้สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว โดยจะต้องไม่เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้เดิมในระบบที่มีอยู่แล้ว
ในส่วนของเกณฑ์ในการปล่อยเงินกู้ สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรรายย่อยนั้น จะให้กู้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.85% ต่อเดือน หรือ 10 % ต่อปี ด้วยระยะเวลาให้กู้ยืมไม่เกิน 5 ปี โดยสามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นระยะเวลา 1 ปี และการค้ำประกันต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คนหรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
เกณฑ์การให้สินเชื่อนั้น จะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก โดยสามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรได้ แต่จะไม่นำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ คาดว่าจะครอบคลุมประชาชนที่ขอสินเชื่อประมาณ 2 แสนราย
รัฐบาลชดเชยกรณีหนี้เสีย 4 พันล้าน
แต่เนื่องจากโครงการนี้ เป็นการให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (เอ็นดีแอล) สูงทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อใดๆของระบบธนาคารได้ ทางรัฐบาลจึงจะชดเชยความเสียหายสำหรับปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจากโครงการให้อีกด้วย
โดยอัตราการชดเชยกรณีหนี้เสียให้กับออมสินและ ธ.ก.ส.
– ในกรณีเกิดเอ็นพีแอลไม่เกิน 25% รัฐบาลจะชดเชยให้ 100%
– หากเอ็นพีแอลมากกว่า 25% แต่ไม่เกิน 37.5% รัฐบาลชดเชยให้ 70%
– และเอ็นพีแอลมากกว่า 37.5% แต่ไม่เกิน 50% รัฐบาลจะชดเชยให้ 50%
รวมเฉลี่ยทั้งหมดแล้ว รัฐบาลจะชดเชยเมื่อเกิดเอ็นพีแอลไม่เกิน 40% ของวงเงินสินเชื่อรวม หรือไม่เกิน 4,000 ล้านบาท
นายณัฐพร ยังกล่าวต่ออีกว่า ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจตามมติ ครม. เพื่อรับผิดชอบภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นการเฉพาะขึ้น โดยได้จัดตั้งแยกต่างหากออกมาจากโครงการปกติของธนาคาร โดยพบว่ามีประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อของระบบธนาคารได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉินในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียน
และเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.จึงได้เสนอโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง จะได้ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง และบางครั้งมีการติดตามทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรงส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
มูลหนี้นอกระบบ 1.2 แสนล้าน
นายณัฐพรยังกล่าวต่ออีกว่า “โครงการนี้ จะช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน โดยไม่ต้องไปใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง และในบางกรณียังต้องเจอกับการติดตามทวงถามหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมา แต่เมื่อมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนให้กลุ่มดังกล่าวดีขึ้น”
ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบของรัฐบาล ในช่วงปี 2552-53 พบว่า มีลูกหนี้นอกระบบในโครงการทั้งสิ้น 1.185 ล้านคน คิดเป็นมีมูลหนี้ประมาณ 123,240 ล้านบาท
ด้านนายสุรศักดิ์ พิชิตผจงกิจ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค.กล่าวว่า สำหรับปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ทางสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนได้รับเรื่องเรียนมาตลอด โดยเฉพาะในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามาก แต่ขณะนี้เรื่องร้องเรียนเริ่มลดลง ส่วนหนึ่งเพราะได้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยและส่งให้สถาบันการเงินรัฐช่วยพิจารณาสินเชื่อบ้างแล้ว
อนุมัติพิโคไฟแนนซ์รับนโยบายรัฐ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้กล่าวว่า การเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบ มาจดทะเบียนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้รายย่อยอย่างถูกกฎหมาย หรือพิโคไฟแนนซ์นั้น ล่าสุดมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตแล้วรวมกว่า 80 ราย ในจำนวนนี้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการแล้ว 1 ราย และยังมีอีก 11 รายที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว
โดยนายกฤษฎา คาดว่าการเปิดตัวโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้นั้น จะสามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบได้ทั้งหมด โดยรัฐบาลต้องการให้มีผู้ประกอบการพิโคไฟแนนซ์อยู่ทุกจังหวัด เพราะแต่ละรายจะสามารถปล่อยเงินกู้ได้เฉพาะในจังหวัดของตัวเองเท่านั้น
เตรียมลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบ 2 เดือน เมษายน
สำหรับการเปิดรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบ 2 ในต้นเดือนเมษายนนี้ นอกจากจุดเปิดรับลงทะเบียนเดิมตามสาขาของธนาคารรัฐ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.แล้ว คาดว่ากรมบัญชีกลางจะเปิดให้ลงทะเบียนที่คลังจังหวัดทุกจังหวัดด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดหลายวัน จึงอาจขยายเวลาเปิดรับลงทะเบียนถึงกลางเดือนพฤษภาคม จากนั้นกรมบัญชีกลางจะออกบัตรประจำตัวให้ โดยอาจให้ใช้สีแตกต่างกันตามระดับรายได้ของประชาชน
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณา ซึ่งผู้ถือบัตรแต่ละสี หรือแต่ละระดับรายได้จะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันตามระดับรายได้ รวมถึงคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็จะมีสิทธิประโยชน์ต่างกัน เช่น คนกรุงเทพฯ ได้ใช้รถเมล์ฟรี ขณะที่คนต่างจังหวัดไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิประโยชน์นี้ เป็นต้น
7488 total views, 1 today