โดนหลอกโอนเงิน จะทำอย่างไรได้บ้างถึงจะได้เงินคืน
โดนหลอกโอนเงิน จะทำอย่างไรได้บ้างถึงจะได้เงินคืน
ปัญหาของการติดต่อซื้อขายผ่านทางระบบออนไลน์ก็คือ ต่างคนต่างอยู่ไกล คนขายจะส่งของมาก่อนก็กลัวไม่ได้รับเงิน ส่วนคนซื้อจะโอนเงินก่อนก็กลัวโดนโกง แต่บางทีความโลภบังตา ข้อมูลฝั่งคนขายดูน่าเชื่อถือ เลยหลวมตัวโอนเงินไปก็เสร็จซะครับ โอนปั้บติดต่อได้สองสามวันหลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้อีกเลย
แอดมินเองได้รับรายงานการโกงบ่อยมาก พอดีทำเว็บประกาศหลายเว็บ บางเว็บมิจฉาชีพลงประกาศขายสินค้าราคาต่ำกว่าปกติ คนก็หลงเชื่อติดต่อไป มิจฉาชีพก็ส่งเอกสารต่างๆมาให้ดู น่าเชื่อถือ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งรูปบัตรข้าราชการที่ผ่านการแต่งภาพมาอย่างแนบเนียน เหยื่อก็หลงเชื่อโอนเงินไม่ใช่แค่หลักพันหลักหมื่น หลักแสนก็มี พอรู้ว่าโดนโกงก็ไม่รู้จะทำอะไร โทรมาหาแอดมิน ก็เลยขอแนะนำกรรมวิธีการรับมือหลังหลอกโอนเงินไว้ตรงนี้เลยแล้วกัน
ยอดเงินโดนโกงเยอะหรือไม่
อันดับแรกที่เราต้องพิจารณาคือ ยอดเงินที่เราโอนไปให้มิจฉาชีพนั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะมันจะบ่งบอกถึงความคุ้มหรือไม่คุ้มกับการดำเนินการต่างๆ เพราะเราเองต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน รวมถึงค่าโทรศัพท์ติดต่อ ค่าเดินทาง ต้องลางานเพื่อไปติดต่อเรื่องราวต่างๆซึ่งไม่ใช่เพียงวันสองวัน แต่อาจจะเป็นเวลาหลายเดือน
ดังนั้นยอดเงินที่โดนหลอกไปจึงเป็นตัวตัดสินว่คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งจากที่ได้รับแจ้งที่ผ่านมาคนที่แจ้งความส่วนมากยอดเงินจะเกิน 5,000 บาทขึ้นไป น้อยรายที่จะแจ้งความที่ยอดเงิน 2,000 บาท โดยเคยมีอยู่รายหนึ่งโดนหลอกโอนเงินไป 2,000 บาท กับเว็บซื้อขายสินค้ามือสอง เขาตัดสินใจแจ้งความเนื่องจากมีญาติเป็นตำรวจและรู้สึกว่ายอมไม่ได้ที่ให้มิจฉาชีพรายนี้ลอยนวล แต่จะว่าไปแล้วยอดเงินโดนโกงแค่นี้แค่เดินทางไปติดต่อที่สถานีตำรวจสี่ครั้งก็หมดไปอีก 2,000 บาทแล้ว
ยอดเงินที่เหมาะสมสำหรับคนวัยทำงานที่อาจจะต้องลางานไปติดตามความคืบหน้าคดีก็เลยน่าจะเป็นตัวเลขที่ประมาณ 3000 – 5000 บาท หากต่ำกว่านี้ก็ถือว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสียเวลาไปแจ้งความ แต่หากบ้านอยู่ใกล้สถานีตำรวจก็อาจจะถือว่าคุ้มค่าที่จะเสียเวลาแจ้งความ แต่ที่แน่ๆ ถ้าโดนโกงไป 500 – 1,000 บาทนี่ ไม่คุ้มค่าที่จะเดินทางไปสถานีตำรวจด้วยซ้ำ ดังนั้นมิจฉาชีพส่วนมากเลยมักจะหลอกให้โอนเงินอยู่ประมาณนี้ แล้วหลอกหลายๆราย รายละเล็กๆน้อยๆ ดีกว่าหลอกรายเดียวแล้วได้ยอดเงินเป็นจำนวนมาก ถ้าโดนตำเนินคดีจริงจังก็อาจจะสาวมาถึงตัวได้
แจ้งความดำเนินคดี
เมื่อคิดว่ายอดเงินที่โดนโกงไปนั้นแตะหลักหมื่น หรือคิดว่าตัวเองยอมเสียเวลาจะจัดการมิจฉาชีพรายนี้ให้ได้แล้วละก็ เราจะต้องไปแจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่แจ้งความเพื่อลงบัยทึกประจำวันเท่านั้น
ทั้งนี้ก่อนแจ้งความต้องทำใจไว้ก่อนว่า จะต้องโดนพนักงานสอบสวนถากถางเยาะเย้ยว่าหน้ามืดตามัวหรือไง ทำไมถึงโอนเงินไปให้เขาก่อนทั้งๆที่ไม่เคยเห็นหน้าตา ถ้าทนโดนถากถางไม่ได้ก็อย่าโผล่หน้าไปสถานีตำรวจ ดังนั้นจึงควรชวนเพื่อนไปด้วยเพื่อให้กำลังใจเราเวลาโดนพนักงานสอบสวนกระหน่ำเชิงจิตวิทยากับเรา
ปัญหาเริ่มต้นที่จะเจอคือ พนักงานสอบสวนโยนกันไปมาระหว่างท้องที่ต่างๆ เพราะพนักงานสอบสวนก็เหมือนพนักงานตามบริษัทห้างร้านทั่วไป ที่ทำคดีมากหรือน้อยก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม และคดีแบบนี้ถ้าเราไม่ใช่คนดัง ถึงจะตามตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาลได้ ตำรวจก็ไม่ได้ดังเป็นข่าวให้เจ้านายเห็นผลงานหรืออะไรเลย ดังนั้นเราในฐานะลูกชาวบ้านธรรมดาก็ต้องทำใจ
เพื่อสกัดปัญหานี้ เราเลยต้องเตรียมตัวเรื่องข้อมูลให้ชัดเจน นั่นคือไปร้านคอมพ์หรือที่ทำงานตัวเอง พิมพ์หน้าเว็บที่เราเห็นประกาศเอาไว้เป็นหลักฐาน จับภาพหน้าจอ (capture) ของบทสนทนาต่างๆ ส่งเข้า email ตัวเองแล้สั่งพิมพ์มาให้เรียบร้อย ถ่ายสำเนาสลิปโอนเงินไว้หลายๆแผ่น แล้วคิดถึงตำแหน่งสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน
นั่นคือตัวเองโอนเงินที่ตู้ ATM ตู้ไหน ตำแหน่งไหน ตึกไหน ถนนสายอะไร เพราะเหตุความเสียหายเกิดขึ้นตอนโอนเงินนั้นจะเป็นตัวบ่งบอกเขตความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนว่าอยู่ท้องที่ไหน หากเราโอนผ่านมือถือ หรือผ่านหน้าคอมพ์ เราก็ควรจะรู้ตัวเองว่าตอนโอนเราอยู่ที่ไหน พอเราได้ตำแหน่งของตัวเราเองตอนโอนเงินแล้ว เราก็ถามคนละแวกนั้นว่า ที่ตรงนั้นอยู่ท้องที่ไหน ถ้าอยู่ใน กทม ก็วิ่งไปถามที่ป้อมยามได้เลยว่าที่เราอยู่นั้นอยู่ท้องที่ไหน ส่วนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าอยู่อำเภออะไร
ที่เราต้องหาตำแหน่งก่อนเพราะบางทีเห็นสถานีตำรวจอยู่ไม่ไกล แต่จะกลายเป็นว่าอยู่คนละท้องที่ อุตส่าห์รอคิวยาว พอถึงคิวตัวเอง เริ่มเล่าเรื่องปั้บพนักงานสอบสวนก็บอกว่ามาผิดที่ ก็ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวที่ใหม่อีก
พอได้ตำแหน่งที่ชัดเจนแล้ว ก่อนแจ้งความหากระดาษมาหนึ่งแผ่น เขียนเล่าเรื่องราวประเด็นสำคัญลงในกระดาษด้วยลายมือสวยงาม หรือว่างๆ ก็ไปนั่งพิมพ์เข้าคอมพ์ให้เรียบร้อย แล้วพิมพ์ออกมาใส่กระดาษแล้วก็ส่งเข้า email ของตัวเองเอาไว้ด้วย เ
โดยเนื้อหาที่บอกเล่าก็จะเป็นเรื่องราวว่า เราชื่ออะไร หมายเลขบัตรประชาชนอะไร มีที่อยู่ตามภูมิลำเนาที่ไหน เราเห็นประกาศที่เว็บไหน คนที่ลงประกาศใช้ชื่อที่อยู่ว่าอะไร เบอร์โทรอะไร เราติตต่อตกลงซื้อสินค้าอะไร ราคาเท่าไหร่ เขาส่งเอกสารอะไรมาให้เราบ้าง แล้วเราโอนเงินมัดจำไปจำนวนเท่าไหร่ โอนเงินที่ตู้ ATM ท้องที่ไหน แล้วหลังจากนั้นรู้ได้อย่างไรว่าเขามีเจตนาโกง เพราะเขาอาจจะส่งมาแล้วก็ได้ เราก็อธิบายไป หากมีพยานก็ระบุชื่อนามสกุลหมายเลขบัตรประชาชนพยานไปด้วย และลงท้ายจดหมายว่าจึงต้องการมาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนถึงที่สุด
ที่เราต้องเขียนจดหมายเพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเล่าเรื่องราว เพราะเราต้องเล่าหลายรอบ ตั้งแต่สิบเวรไปจนถึงสารวัตรสอบสวน บางทีเล่าแล้วตกหล่น เล่าแล้วลืม เล่าจนเบื่อ ดังนั้นพอใครถามก็ยื่นให้อ่าน และถ้าไม่อยากเสียเวลาอธิบายอะไรกับใครยืดยาว ก็บอกว่าจะขอแจ้งพนักงานสอบสวนร้อยเวรทีเดียวไปเลย
เมื่อถึงจุดแจ้งความแล้ว สมัยนี้พนักงานสอบสวนมี email ทุกคน ก็บอกเขาไปว่าหนูมีข้อมูลเหล่านี้อยู่ใน email แล้วเดี๋ยวจะส่งให้พนักงานสอบสวนได้เลย จะได้ประหยัดเวลาพิมพ์ แล้วแจ้งพนักงานสอบสวนให้ออกจดหมายไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลจากธนาคารด้วย
กระบวนการดำเนินคดี
ข้อมูลรายละเอียดการแจ้งความที่สำคัญที่อาจจะสามารถทำให้ทางพนักงานสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดได้ก็คือ
1. หมายเลขบัญชีธนาคาร ซึ่งเราต้องขอให้พนักงานสอบสวนออกหนังสือให้เราไปยื่นกับธนาคาร เพื่อขอชื่อที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าของบัญชี โดยทั่วไปแล้วมิจฉาชีพมักจะไม่ใช้บัญชีตัวเองรับเงิน และเมือได้เงินมาแล้วจะถอนออกมาทันที แต่อย่างน้อยเผื่อจะสืบหาความสัมพันธ์ได้
เมื่อได้ชื่อที่อยู่เราก็นำกลับมาให้พนักงานสอบสวน เพื่อออกหมายเรียกให้เจ้าของบัญชีมาให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกหมายเรียกสองครั้งแล้วยังไม่มา ก็จะมีการออกหมายจับต่อไป การตามจับถ้าเป็นคดีไม่ดัง เราเองต้องเป็นคนไปสืบหาว่าคนๆนั้นอยู่ไหน เมื่อเจอตัวก็ถือหมายจับไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้นๆ ให้ไปจับบุคคลตามหมายจับนั้นได้ เห็นไหมหละครับว่ามันเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายจริงๆ
พอได้ตัวมาแล้วหรือเขามารายงานตัว เขาก็อาจจะบอกว่ามีคนขอยืมบัตร ATM ไปใช้ อะไรทำนองนี้ เขาก็จะมีความผิดข้อหาอื่น เราเองไม่สามารถบังคับให้เจ้าของบัญเอาเงินมาคืนเราได้หรอก เพราะเขาอาจจะไม่รู้เรื่องจริงๆ
2. หมายเลขโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องทำหนังสือไปขอตรวจสอบ เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเหมือนลักษณะข้างบน คือได้ชื่อที่อยู่มา ก็ต้องออกหมายเรียก หมายจับ แล้วรอให้เจ้าตัวมาให้ปากคำกับตำรวจ มาแล้วเขาก็อาจจะบอกว่าโดนขโมยบัตรไปลงทะเบียนซิมเอาก็ได้ จะทำอะไรเขาได้เขาไม่รู้เรื่องจริงๆ
3. หมายเลข IP จากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือจากมือถือว่าใช้งานจากตำแหน่งไหน กรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหนังสือถึงกระทรวงดิจิตอล กระทรวงดิจิตอล จะทำหนังสือถึงเจ้าของเว็บไซท์เพื่อขอความร่วมมือตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าของเว็บอาจจะให้ความร่วมมือ ค้นหาข้อมูลเก่าๆให้ แต่หากมิจฉาชีพลบกระทู้ไปแล้ว ก็อาจจะตามตัวยากหน่อย
ในจดหมายตอบจากเจ้าของเว็บ จะเป็นหมายเลข IP พร้อมเวลาที่โพสท์ลงโฆษณา กระทรวงดิจิตอลอาจจะพบว่ามีการโพสท์จากร้านเน็ต ก็ต้องไปขอความร่วมมือจากร้านเน็ตว่าใครหน้าตาเป็นอย่างไร เข้ามาใช้เครื่องคอมพ์ ณเวลานั้นๆ ถ้าไม่มีกล้องวงจรปิดที่ร้าน หรือไม่มีการจดบันทึกการใช้งานว่าใครชื่ออะไรมาใช้บริการ ก็ตามต่อไม่ได้แล้ว
ทั้ง 3 กรณีคือแนวทางในการติดตามหาผู้กระทำผิด ซึ่งแล้วแต่ว่าวิธีใดจะได้ผลเร็ว หรืออาจจะไม่ได้ผลเลย และตราบใดที่ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ตำรวจก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปจับใครมาดำเนินคดี ปัญหามันจึงอยู่ตรงนี้แหละที่ว่า สิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรมากมายจากหลายหน่วยงาน แต่สุดท้ายก็หาตัวไม่ได้ มิจฉาชีพเลยย่ามใจมาก และพนักงานสอบสวนก็มองว่ายากที่จะได้ตัวมา เลยไม่ค่อยอยากรับแจ้งความ
หรือบางทีรับแจ้งความแล้ว ทำโน่นนี่พอเป็นพิธี พอเราสอบถามไปก็จะบอกว่า ยังหาตัวไม่ได้ ออกหมายจับไปแล้ว จนสุดท้ายเราก็ต้องถอดใจไปเองเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ เราจึงไม่ควรโอนเงินให้ใครก่อนเป็นการดีที่สุดครับ
13012 total views, 1 today