วิธีรับมือไฟแนนซ์ เมื่อรถกำลังจะถูกยึด
วิธีรับมือไฟแนนซ์ เมื่อรถกำลังจะถูกยึด
ถึงคราวสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายครอบครัวเจอปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ทำให้ตัดสินใจหยุดผ่อนชำระค่าใช้จ่ายๆต่างๆ หนึ่งในนั้นอาจจะมีรถยนต์รวมอยู่ด้วย เพราะค่างวดในแต่ละเดือนนั้นมียอดสูง หลายคนหยุดผ่อนชำระมานานเป็นเวลาหลายเดือนทำให้เข้าสู่สภาวะที่ไฟแนนส์จะเข้ามายึดรถ เราจึงควรรักษาสิทธิ์ของเราด้วยข้อแนะนำดังนี้นะครบ
– ไฟแนนซ์ดำเนินธุรกิจปล่อยกู้โดยมีรถเป็นหลักประกันและเรียกเก็บดอกเบี้ยจากเรา การแสวงหากำไรจึงอยู่ที่ตัวเงิน ดังนั้นไฟแนนซ์จึงมักจะข่มขู่เราให้รับผิดชอบค่าติดตามยึดรถ ค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ ค่าอะไรต่างๆ มากมาย โดยมักข่มขู่ว่าให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้รับผิดชอบ เราจึงควรตระหนักว่าไฟแนนซ์จะเรียกเก็บค่าต่างๆ ตามอำเภอใจไม่ได้ ค่าเสียหายต่างๆ จะต้องเรียกตามความเป็นจริง หากเรื่องถึงศาลเราจะได้รับความยุติธรรมมากกว่า
– การเข้ายึดรถของผู้เช่าซื้อนั้น ผู้เช่าซื้อจะต้องค้างชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน นั่นแสดงว่าเราต้องขาดส่งมาแล้ว 3 เดือน ไม่ใช่ว่าครบเดือนที่ 3 แล้วจะดำเนินการได้ทันที ต้องมีกระบวนการบอกเลิกสัญญาให้เราได้รับทราบอีก ดังนั้นการยึดรถก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไฟแนนซ์จะกระทำมิได้ หากทำจะมีความผิดตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งคุ้มครองเกี่ยวกับตัวสัญญา
– หากผู้ซื้อไม่ยินยอมให้ยึดรถ ไฟแนนซ์จะยึดรถเราไม่ได้ ถ้ามีการบุกรุกเข้ามาในบ้านคนยึดก็จะมีความผิด การบังคับขู่เข็ญหรือกระชากกุญแจหนีไป จะมีความผิดเพราะฉะนั้นถ้ามีคนกระทำการดังกล่าวให้ถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งความดำเนินคดีอาญา หรือให้ทนาย ฟ้องศาลได้เลย จะเห็นได้ว่าสมัยนี้บริษัทไฟแนนซ์ขนาดใหญ่มีชื่อเสียง จะส่งมอบกุญแจให้กับผู้ครอบครองครบทั้ง 3 ดอก เนื่องจากกฏหมายมีความเข้มงวดมากขึ้นนั่นเอง
– ควรพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้รถถูกยึด เพราะหากรถถูกยึดไปแล้ว ไฟแนนซ์จะนำไปขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก และเมื่อได้เงินมาไม่เพียงพอกับมูลหนี้และค่าปรับ ไฟแนนซ์ก็จะยังมาเรียกค่าเสียหายกับเรา แต่หากรถยังอยู่กับเรา เราก็จะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ อำนาจต่อรองจะยังอยู่ที่เรา
– ในกรณีสุดวิสัยจริงๆ และรถต้องถูกยึดแน่นอนเช่นไม่ผู้ดูแล สภาพรถไม่สามารถใช้งานได้อีกแล้ว หรือรถถูกบุคคลอื่นยึดครองไปแล้ว ระหว่างการยึดรถให้ขอเอกสารหลักฐานจากผู้ยึดและไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าตำรวจ เพราะพบว่าหลายครั้ง มิจฉาชีพทราบข้อมูลจากไฟแนนซ์แล้วออกมาทำทียึดรถกับเจ้าของโดยเจ้าของเองไม่ได้เฉลียวใจ ส่งมอบรถให้กับมิจฉาชีพไปก็เคยมีกรณีมาแล้ว
– หากรถถูกยึดไแล้วมีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ส่วนต่าง อย่าตกใจหรือเครียดกับมัน ให้ติดต่อหาทนายสู้คดีและไปตามที่ศาลนัด ท่านจะได้รับความเป็นธรรมมากกว่า เช่นไฟแนนซ์เรียกมา 1,000,000 บาท มักจะเป็นตัวเลขสูงสุดไว้ก่อน แต่ศาลจะพิจารณาให้ตามเป็นจริง บางครั้งเหลือไม่ถึงครึ่งของที่เรียกมา แต่หากเราไม่ไปศาล ศาลก็จะยกประโยชน์ให้กับไฟแนนซ์ไป
– หากแพ้คดีแล้วต้องชำระค่าเสียหายให้ไฟแนนซ์ ถ้าเรามีทรัพย์สินในชื่อของเราก็จะถูกยึดทรัพย์บังคับคดีตามกฏหมาย โดยจะยังเหลือเงินเดือนไว้ให้ดำรงค์ชีพอยู่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าไฟแนนซ์ขู่จะยึดเงินเดือนทั้งหมด แล้วทำให้เราไม่อยากไปทำงานเพราะคิดว่าไม่ได้เงินเดือน พาลจะเสียหน้าที่การงานไปด้วย การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหลังโดนฟ้องแล้วถือเป็นความผิด ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง แต่หากทรัพย์สินเป็นในนามญาติ พี่น้อง พ่อแม่ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง ไฟแนนซ์จะไม่สามารถมายึดเอาไปได้ การเป็นเจ้าบ้านก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นเจ้าของทรัพย์ เจ้าของที่แท้จริงคือคนที่มีชื่อในฉโนดเท่านั้น
– การติดหนี้ไฟแนนซ์ ไม่ติดคุก ไม่มีใครเอาเราไปขังได้เนื่องจากหนี้สินเป็นคดีแพ่ง เพียงแต่อย่าไปทำอะไรให้เข้าข่ายคดีอาญา เช่น ทำร้ายร่างกายคนมาทวงหนี้หรือยึดรถเรา หรือว่ากล่าวดูหมิ่นคนมาทวงหนี้ต่อหน้าบุคคลอื่นก็พอ
สรุปแล้ว การเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติของชีวิต บริษัทห้างร้านเป็นจำนวนมากกู้เงินธนาคารมาดำเนินธุรกิจ หากผิดพลาดเป็นหนี้สินก็โดนฟ้องล้มละลายไป แต่เจ้าของบริษัทก็มีโอกาสทำมาหากินต่อไปได้ ดังนั้นเราก็เช่นเดียวกัน การเป็นหนี้ก็เป็นเรื่องของหนี้ หน้าที่การงานก็ต้องทำเพื่อหาเลี้ยงปากท้องต่อไป แม้จะโดนยึดทรัพย์หรือฟ้องล้มละลาย เราก็ยังสามารถทำงานรับเงินเดือนได้ตามปกติ แต่เงินเดือนอาจจะหายไปบางส่วนเพื่อเฉลี่ยให้เจ้าหนี้ กฏหมายกำหนดให้เราต้องดำรงค์ชีพอยู่ได้ เพียงแค่มีสติอย่าไปหลงเชื่อคนทวงหนี้แล้วเก็บมาคิดให้เครียด และบอกให้เขาดำเนินตามกฏหมายบ้านเมืองไป
เครดิตบทความจาก ทนายพี
9865 total views, 1 today