พรบ. ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกำหนด ความหวังของลูกหนี้เงินกู้
พรบ. ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกำหนด ความหวังของลูกหนี้เงินกู้
การกู้หนี้ยืมสินนั้นเป็นเรื่องปกติวิสัยของทุกคน บางคนกู้เงินมาเพื่อการลงทุนให้เกิดผลตอบแทน บางคนก็ต้องกู้เงินมาเพื่อซื้อสินทรัพย์เช่นบ้านพักอาศัยแล้วค่อยทยอยชำระเงินคืน เพราะถ้าจะรอให้มีเงินก้อนแล้วซื้อบ้านคุณภาพชีวิตในช่วงที่ผ่านมาก็คงจะย่ำแย่
บางคนกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายเหตุฉุกเฉินแล้วค่อยทยอยใช้คืน ซึ่งบางครั้งก็เป็นเหตุที่ไม่คาดคิดแล้วต้องใช้เงินก้อนเป็นจำนวนมาก อาศัยสินทรัพย์ที่มีอยู่เป็นตัวค้ำประกันว่าจะมีการชำระคืนตามกำหนดแน่นอน
สิ่งที่กล่าวมาข้างบนส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนี้ในระบบ หรือเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ได้ต้องเป็นไปตามกฏหมาย นั่นก็คือถ้าเป็นธนาคารที่รับฝากเงินจากประชาชน การปล่อยกู้จะต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันให้เพียงพอกับมูลหนี้ แต่หากเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้อย่างเดียว อาจจะมีการเรียกหลักทรัพย์ที่น้อยลง หรืออาศัยตัวเงินเดือนประจำมาเป็นสิ่งที่จะยืนยันว่าลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ดีหรือไม่
ปัญหาเลยมาตกอยู่กับคนที่ไม่ได้มีงานที่ได้รับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร อาชีพรับจ้าง หรืออื่นๆ บุคคลเหล่านี้เมื่อต้องการเงินสดก็จำเป็นต้องหยิบยืมจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงหรือหนทางสุดท้ายก็คือนายทุนเงินกู้นอกระบบ
ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาก็คือการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงของลูกหนี้ และเป็นการแสวงหากำไรที่เกินควรในหลายๆกรณี ทำให้ลูกหนี้ไม่มีโอกาสหลุดออกจากวังวนของการเป็นหนี้ได้เลย
เราจะพบข่าวคราวอยู่บ่อยๆกับการที่ลูกหนี้บางรายยืมเงินเพียง 10,000 บาท ผ่านไปไม่กี่เดือนดอกทบต้น ต้นทบดอก จนหนี้สินพอกพูนเป็นหลักล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ ให้ทุกเป็นทาสยุคใหม่ให้กับนายทุน ที่ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาต้องทำงานใช้หนี้เท่านั้น
กฏหมายใหม่ ส่องแสงแห่งความหวังให้ลูกหนี้
สนช. ภายใต้รัฐบาล คสช ได้ผ่านกฏหมาย “พ.ร.บ. ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกำหนด” โดยมีสาระสำคัญคือการกำหนดโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปีที่ไม่มีกฏหมายพิเศษรองรับให้เป็นว่า ใครฝ่าฝืนคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี มีโทษติดคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำกันเป็นกระบวนการ ที่เป็นลักษณะนายทุนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และหากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า
นอกจากหนี้แล้วก่อนหน้านี้ได้มีการ ออกกฏหมาย พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ ที่บังคับให้ผู้มีอาชีพทวงหนี้ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย และมีข้อห้ามต่างๆ เช่น
– ห้ามทวงหนี้ในที่ททำงาน
– ห้ามข่มขู่คุกคามลูกหนี้
– ห้ามตามตื้อทวงถามจนทำให้ลูกหนี้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ
ใครฝ่าฝืนข้อห้ามเหล่านี้มีสิทธิติดคุก 5 ปี เช่นกัน
สำหรับผู้ที่ต้องการดำเนินกิจการปล่อยกู้แบบถูกกฏหมาย และต้องการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่า 15 % ต่อปีก็ยังมีทางออกอยู่ นั่นก็คือไปยื่นขออนุญาตจัดตั้งเป็น พิโคไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลัง และสามารถปล่อยกู้เงินด่วนให้กับลูกหนี้ได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ต่อราย และสามารถคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือไม่เกินร้อยละ 3 บาท ต่อเดือน
ปัญหาที่ต้องขบคิดก็คือ แม้จะเป็นแสงสว่างสำหรับลูกหนี้ก็จริง แต่ในความเป็นจริงนายทุนเงินกู้ก็จะหาวิธีหลบเลี่ยงให้รอดสายตาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไปได้ และยิ่งหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปรับผลประโยชน์จากข่าวการจับกุมแก๊งเงินกู้รายใหญ่ระดับประเทศที่ผ่านมา ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะจับกับผู้กระทำความผิดได้
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการไปกู้เงิน 10,000 บาท แล้วนายทุนบังคับให้เซ็นสัญญาว่ากู้ไป 50,000 บาท แล้วให้ใช้คืนโดยคิดอัตราดอกเบี้ยแค่ 10% ต่อปี ลูกหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้กันท่วมหัวอยู่ดี ซึ่งหากลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้อีก เจ้าหนี้ก็แค่เรียกมาทำสัญญาเงินกู้ใหม่เปลี่ยนเป็น 200,000 บาท แล้วใครจะไปเอาผิดนายทุนได้ จะให้ลูกหนี้ไปร้องเรียนก็คงเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องมีการพิสูจน์ถึงการรับเงินว่ารับเงินจริงเท่าไหร่ ระหว่างนั้นเจ้าหนี้ส่งคนมาข่มขู่ ความสุขไม่มีใครจะไปกล้าร้องเรียน ชาวบ้านก็คงต้องรับกรรมกันต่อไป
2232 total views, 1 today