ผลวิจัยชี้คนแบกหนี้เฉลี่ย 3.5 แสน
ผลวิจัยชี้คนแบกหนี้เฉลี่ย 3.5 แสน
ปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลกำลังพยายามปราบปราม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบนั้นสูงมาก หลายคนจ่ายแล้วจ่ายเล่าหนี้ก็ไม่เคยหมด อาจนับได้ถึงการเป็นทาสนายทุนยุคใหม่ ที่อาศัยคำว่า “เงินกู้” บังหน้า
ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 51.5 มีหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว โดยคิดเป็นมูลหนี้เฉลี่ย 55,793 บาท
ส่วนลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 48.4 จะมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ มีมูลหนี้เฉลี่ย 357,669.12 บาท โดยหากคิดเฉพาะค่าเฉลี่ยมูลหนี้ในระบบอย่างเดียวจะเท่ากับ 300,145.46 บาท ซึ่งถือสูงกว่ามูลหนี้เงินกู้นอกระบบถึง 5.38 เท่า ซึ่งปัญหาหนี้นอกเงินกู้ระบบนั้น จะมีความเชื่อมโยงกับหนี้ในระบบอยู่ในตัว
ในส่วนของเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบนั้น ร้อยละ 24.8 จะเป็นญาติ ร้อยละ 20.2 เป็นคนรู้จัก ร้อยละ 14.1 เป็นแก๊งหมวกกันน็อก ร้อยละ 13.8 เป็นนายทุนจากนอกพื้นที่ มีเพียงร้อยละ 11.6 เท่านั้นที่เป็นนายทุนในพื้นที่
อัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 60 ต่อเดือน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบนั้นจะสูงกว่าดอกเบี้ยตามกฎหมาย (ตามกฏหมายปกติเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี) ถึง 6.3 เท่า โดยอัตราสูงที่สุดจากการสำรวจคือร้อยละ 60 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้แม้ลูกหนี้จะรู้ดีว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขการกู้เงินดังกล่าวเนื่องจากไม่ว่าดอกเบี้ยจะสูงเพียงใด ตัวเองมีความจำเป็นต้องใช้เงินในภาวะฉุกเฉิน เลยทำให้ต้องยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลักษณะของหนี้นอกระบบ แบ่งตามลักษณะของการให้กู้ได้เป็น 2 แบบ คือ
1) การใช้รูปแบบการกู้เงิน
กรณีนี้เจ้าหนี้จะปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ โดยมีการทำสัญญาเงินกู้ โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปเช่น
1.จำนวนเงินในสัญญาเงินกู้สูงกว่าเงินที่ได้กู้ไปจริง
2.การกำหนดจำนวนเงินกู้ในสัญญาไว้สูงกว่าจำนวนที่ลูกหนี้ได้รับจริง
3.การลงนามในกระดาษเปล่าของลูกหนี้ หรือสัญญาเปล่าที่ยังไม่มีการเขียนรายละเอียดใด ๆ ไว้แต่ให้ลูกหนี้ลงนาม
4. การแก้ไขตัวเลขในสัญญาเงินกู้
5. เจ้าหนี้หักดอกเบี้ยล่วงหน้า ทำให้ลูกหนี้ได้รับเงินกู้น้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้
6. การทำสัญญาเงินกู้ย้อนหลังและฟ้องบังคับคดีโดยให้ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งบังคับคดีได้โดยไม่ต้องทำการฟ้องร้องอีก
2) มีลักษณะการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน เช่น
1.การซื้อสินค้า เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญาซื้อสินค้า เช่น ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วให้ผ่อนกับบริษัทไฟแนนซ์โดยตรง แล้วนำสินค้านั้นขายคืนให้กับร้านค้าในราคาถูก
2.การขายฝาก ลูกหนี้จะต้องนำทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน บ้าน เพื่อไปทำสัญญาขายฝาก ทั้งๆ ที่เป็นการกู้เงินแต่ใช้รูปแบบการขายฝากทรัพย์สินทำให้เมื่อครบกำหนดลูกหนี้ไม่มาไถ่ถอนคืน เจ้าหนี้ก็จะยึดทรัพย์สินเช่นที่ดิน หรือบ้านหลังนั้นไป
ลักษณะของการขายฝากแบบนี้ นายทุนมักจะกำหนดเวลาไม่นาน โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องมีภาระดอกเบี้ยมากนัก และจะขยายเวลาให้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด ลูกหนี้มักจะยินยอม และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการขายฝาก เจ้าหนี้ก็ไม่ขยายเวลาให้ ทำให้ทรัพย์สินตกเป็นของเจ้าหนี้ทันที หรือบางครั้งเจ้าหนี้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับชำระเงิน ซึ่งเมื่อลูกหนี้ไม่มีความรู้ทางกฏหมายก็จะทำให้เสียทรัพย์สินนั้นไป
2412 total views, 1 today