นายทุนท้องถิ่น แห่เปิดพิโคไฟแนนซ์อื้อ เตรียมปล่อยกู้รายย่อย
นายทุนท้องถิ่น แห่เปิดพิโคไฟแนนซ์อื้อ เตรียมปล่อยกู้รายย่อย
นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดโครงการนาโนไฟแนนซ์และได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ลักษณะของนาโนไฟแนนซ์นั้นมุ่งหวังปล่อยกู้เงินด่วนให้กับผู้ที่ต้องการนำเงินไปประกอบอาชีพเท่านั้น
โครงการล่าสุดที่มุ่งหวังปล่อยกู้ให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยผู้ปล่อยกู้เป็นนายทุนท้องถิ่นที่เดิมอาจจะปล่อยกู้นอกระบบให้หันมากู้ในระบบมากขึ้นนั้น รัฐบาลให้ชื่อว่าเป็นโครงการพิโคไฟแนนซ์ (pico-finance หรือเรียกพิโกไฟแนนซ์สำหรับบางหน่วยงาน)
ทั้งนี้โครงการพิโคไฟแนนซ์ เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชนรายย่อยได้รายลไม่เกิน 50,000 บาท และสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกได้รายละไม่เกิน 36% ต่อปี โดยต้องจดทะเบียนนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และจะสามารถปล่อยเงินกู้ได้ในท้องถิ่นจังหวัดตัวเองที่มีสำนักงานใหญ่อยู่เท่านั้น
นายทุนท้องถิ่นแห่ยื่นจดทะเบียนประกอบกิจการพิโคไฟแนนซ์
ข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าในช่วงนับจากต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการมายื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการพิโคไฟแนนซ์เป็นจำนวนมากกว่า 200 บริษัทแล้ว
โดยส่วนใหญ่ที่ยื่นจดมากจะเป็นจังหวัดในภาคอิสาน เช่น นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชัยภูมิ ที่มีการมายื่นขอประกอบการพิโคไฟแนนซ์กันจังหวัดละประมาณ 10 – 20 บริษัท ส่วนจังหวัดอื่นๆก็มีมายื่นแล้วหลายจังหวัดด้วยกันกระจายไปทุกพื้นที่ของประเทศ
คลังมอบใบอนุญาตแล้วกว่า 50 ราย
ด้านโฆษก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า มีผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับแล้วจำนวน 64 ราย ใน 29 จังหวัด และเปิดดำเนินการแล้ว 25 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด ส่วนที่เหลือกำลังทยอยพิจารณาอนุญาตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้วจะต้องเริ่มดำเนินการปล่อยกู้ภายในระยะเวลา 1 ปี และจะต้องมีการรายงานผลการปล่อยกู้กลับมายัง สำนักเศรษฐกิจการคลังประจำทุกเดือน โดยข้อมูลล่าสุดมีการปล่อยกู้ พิโคไฟแนนซ์ไปแล้ว 2.5 พันล้านบาท เฉลี่ยรายละ 20,000 บาท โดยมีบริษัทที่เปิดบริการแล้ว 25 แห่ง อยู่ใน กทม 2 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง และภาคใต้อีก 2 แห่ง
จากการสำหรับข้อมูลผู้ประกอบการส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่ขออนุญาตให้บริการพิโคไฟแนนซ์มักจะเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ทำธุรกิจสินเชื่อมานาน ไม่ว่าจะเป็นการเช่าซื้อรถมอไซค์ รับจำนองบ้านที่ดิน ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือร้านทองเป็นต้น
ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้นายทุนหันมาจดทะเบียนและให้บริการสินเชื่อในระบบมากขึ้น สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงถึง 36% ต่อปี หรือประมาณ 3% ต่อเดือน ก็ยังดีกว่าเงินด่วนนอกระบบที่มีการคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือนก็มี ได้แต่หวังว่าบริษัทเงินด่วนเหล่านี้ไม่หมกเม็ดค่าธรรมเนียมหรือวิธีการคิดดอกเบี้ยที่ซับซ้อนเพื่อขูดรีดลูกหนี้แล้วทำทีว่าเป็นการดำเนินกิจการแบบถูกกฏหมาย สุดท้ายชาวบ้านก็เดือดร้อนอยู่ดี
2072 total views, 1 today