ธนาคารออมสินพร้อม ปล่อยสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน ให้กับลูกค้าอาชีพอิสระรายย่อย
ออมสินลุย สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน ให้กับลูกค้าอาชีพอิสระรายย่อย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อตามมาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน ทางธนาคารก็จะเริ่มกระบวนการปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยทั่วไป เช่น พ่อค้า แม่ค้า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ กลุ่มแม่บ้านที่รวมกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือผู้รับจ้างทั่วไปเป็นต้น
ทั้งนี้แต่ละรายจะกู้เงินได้ไม่เกินรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยเมื่อรวมกับโครงการธนาคารประชาชนที่เคยกู้ไปแล้วต้องไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งจะมีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 5 ปี ปลอดดอกเบี้ยในปีแรก และในปีที่ 2-5 คิดอัตรา 1% ต่อเดือน โดยเงื่อนไขนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ 59 โดยทางธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ราว 1 แสนราย เฉลี่ยรายละประมาณ 3 หมื่นบาท หรือจะใช้วงเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน สามารถปิดบัญชีได้ตั้งแต่ปีแรก เพื่อไม่ให้เป็นภาระดอกเบี้ย และธนาคารมีความต้องการช่วยเหลือประชาชนจริง อีกทั้งธนาคารจะได้ไม่มีหนี้เสียเพิ่ม นั่นเพราะว่ามาตรการดังกล่าวย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียประมาณ 5-10% ทำให้ธนาคารออมสินได้ขอให้กระทรวงการคลังแยกบัญชีไว้ในสินเชื่อตามนโยบายรัฐ หรือ PSA แต่ทางธนาคารจะไม่ขอการชดเชยใดๆ จากรัฐบาล เพียงแต่จะขอให้ไม่นำไปประเมินวัดผลงาน และไม่ให้หนี้เสียที่เกิดขึ้นถูกนำไปรวมกับการดำเนินการปล่อยสินเชื่อปกติของธนาคาร
ซึ่งปัจจุบันนี้ หนี้เสียหรือ NPL ในระบบทั้งหมด มีอยู่ 2.38% โดยเป็น NPL ของโครงการธนาคารประชาชน 5% หรือราว 7.1 หมื่นล้านบาท จากจำนวน 1.6 ล้านราย โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว แต่ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถดูแลบริหารจัดการได้อย่างไม่มีปัญหา
“ธนาคารออมสินมีความต้องการที่จะช่วยประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระตามชุมชนเมืองทั่วประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน เพื่อให้ใช้เป็นเงินทุนหรือทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ อันจะเป็นการแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ และชำระหนี้สินอื่นๆ รวมทั้ง เงินกู้นอกระบบต่างๆ ด้วย
การดำเนินการตามนโยบายของรัฐในครั้งนี้ ทางธนาคารไม่ได้หวังผลกำไร การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ จะพิจารณาจากการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้าว่าได้มีการค้าขายจริง และมีรายได้เท่าไร แล้วจึงนำตัวเลขเหล่านั้นมาคำนวณการให้สินเชื่อแต่ละราย” นายชาติชาย กล่าวสรุป
13438 total views, 1 today