ต้องการกู้เงินด่วน แต่ยังมีคนโดนหลอกโอนเงินกันอยู่เรื่อยๆ
ต้องการกู้เงินด่วน แต่ยังมีคนโดนหลอกโอนเงินกันอยู่เรื่อยๆ
เปิดเว็บลงประกาศเงินด่วนมาราวๆ 2 ปี พบว่าตั้งแต่เริ่มเปิดเว็บจนถึงตอนนี้ ก็ยังมีคนโดนหลอกให้โอนเงินอยู่เนืองๆ ส่วนใหญ่คนที่โดนหลอกจะโทรเข้ามาแบบว่าให้ช่วยสืบหาให้หน่อยว่าคนโกงคือใคร ซึ่งถ้าแอดมินหาให้ได้ว่าเป็นใครคนโกงก็คงหายไปหมดแล้วละครับ
ปัญหาคือการมีความหวังว่าจะได้เงินกู้มาบรรเทาทุกข์อย่างเร็ว ทำให้ไม่ทันได้คิดว่าเราเองจะกู้เงินด่วนแต่กลับต้องโอนเงินค่าธรรมเนียม ค่าโน่นค่านี่ไปก่อน แล้วคาดหวังว่าจะได้คืนพร้อมเงินกู้ โดยไม่ฉุกคิดว่ากระบวนการกู้เงินด่วนทั่วไปนั้น เขาหักค่าธรรมเนียมต่างๆไปจากวงเงินกู้โดยเมื่อรับเงินแล้วก็รอผ่อนอย่างเดียวเลย
บรรดาผู้ต้องการกู้เงินด่วนทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้คิดอะไรมากมาย ด้วยความเดือดร้อนที่มีอยู่ ใครจะให้ทำอะไรก็พร้อมทำตามอยู่แล้วขอให้ได้เงินกู้เท่านั้น ทำให้มิจฉาชีพมีช่องทางมากมายในการหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินก่อน แม้จะมีคำเตือนมากมายเต็มหน้าเว็บก็เหมือนจะช่วยอะไรไม่ได้เลย
บางรายแจ้งมาทางแอดมินว่า เห็นทางฝั่งคนหลอกลวงส่งบัตรประจำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้างอะไรบ้าง ก็หลงเชื่อว่าจะไม่โดนหลอกลวงแน่ๆ บางรายก็บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทปล่อยเงินกู้ ให้ลองค้นหาชื่อบริษัทในเน็ตแล้วโทรไปตามเบอร์นั้นๆแล้วจะรอรับสาย ความจริงแล้วการตั้งบริษัทไม่ได้เกี่ยวกับว่าโกงไม่โกง เพราะการเช็คว่ามีบริษัทนั้นอยู่จริงก็ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ว่าคนที่กำลังทำทีว่าจะปล่อยกู้นั้นมีอยู่จริงหรือไม่
แล้วที่ผ่านมามีคนแจ้งความดำเนินคดีกับคนโกงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี แต่ปัญหาคือจะแจ้งจับใครเราต้องรู้ว่าเขาผู้นั้นเป็นใคร และทำผิดจริงหรือไม่ ซึ่งการสืบหามีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีด้วยกัน
1. สืบหาจากหมายเลขบัญชีที่ได้รับการโอนเงินไป นั่นคือเมื่อมิจฉาชีพทำทีว่าจะปล่อยกู้เงินด่วน แล้วหลอกให้โอนค่าธรรมเนียมหรือค่าอะไรก็แล้วแต่ ก็จะมีการแจ้งหมายเลขบัญชีมา เราก็สามารถเอาหมายเลขบัญขีดังกล่าวไปแจ้งความได้ แต่ประเด็นคือ เลขบัญชีดังกล่าวจะเป็นของมิจฉาชีพจริงหรือไม่ หรือว่าเขาไปขอใช้บัญชีคนอื่น หรือไปจ้างเปิดบัญชีมา
สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้คือ เมื่อเราไปแจ้งความ จนท ตำรวจก็จะทำหนังสือไปยังธนาคารเพื่อขอทราบชื่อที่อยู่ แล้วออกหมายเรียกให้เจ้าของบัญชีมาชี้แจง การที่เราคิดว่าจะไปอายัดบัญชีนั้นๆ เพื่อไม่ให้มีการถอนเงินออกไป ก็ต้องบอกว่า พอเราโอนเงินปั้บ ทางโน้นก็กดเงินออกมาทันที กว่าเราจะรู้ตัวว่าโดนหลอก ไปแจ้งความ กว่าหนังสือจะออกไปยังธนาคารก็กินเวลาหลายชั่วโมง การโทรไป call center ของธนาคารแล้วอายัดบัญชีนั้น ไม่มีธนาคารไหนยอมทำตามแน่นอนเนื่องจากไม่งั้นใครๆก็อ้างว่าโดนโกงแล้วแจ้งขออายัดไปทั่ว ธนาคารก็จะโดนฟ้องเอาได้ง่ายๆ
2. สืบหาจากหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งหากทางมิจฉาชีพนำมาใช้ในการโทรติดต่อกับเหยื่อ ซึ่งหากได้มีการติดต่อสื่อสารกันจริง และเราทราบหมายเลขโทรศัพท์ ก็สามารถนำหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งขั้นตอนก็คือเมื่อเราแจ้งความแล้ว ทาง จนท ตำรวจก็จะทำหนังสือไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เพื่อขอทราบชื่อที่อยู่ แล้วส่งหมายเรียกเพื่อให้เจ้าของเบอร์โทรศัพท์มาให้ปากคำ
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเจ้าของเบอร์โทรศัทพ์คือบุคคลคนเดียวกับคนที่โกงเงินเราไป เขาอาจจะใช้เบอร์ของญาติหรือของเพื่อนอยู่ก็ได้ และมิจฉาชีพปล่อยกู้เงินด่วนก็ทราบประเด็นนี้ดีเลยมักจะหลีกเลี่ยงการติดต่อกันทางโทรศัพท์แต่จะนิยมติดต่อผ่านทาง Line แทน ซึ่งจะทำให้ตามตัวได้ยากขึ้น
ดังนั้นการติดตามหาตัวมิจฉาชีพปล่อยเงินด่วนด้วยเบอร์โทรศัพท์ก็ถือเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อย แต่ก็ยังพอมีช่องทางอยู่บ้าง เราจึงควรติดต่อผ่านโทรศัพท์ให้ได้ก่อน สอบถามชื่อที่อยู่ของผู้ปล่อยกู้ให้แน่ชัดว่าเป็นใคร ถ้าเขาส่งรูปถ่ายบัตรประชาชนมา ก็ควรให้เขาส่งภาพถ่ายบิลล์ค่าโทรศัพท์มาด้วย
3. สืบจากหมายเลข IP ที่ลงประกาศตามเว็บไซท์ แน่นอนว่าคนที่เดือดร้อนทางด้านการเงิน ก็ย่อมหาผ่านเน็ตเพราะเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งผู้ลงประกาศส่วนใหญ่ก็จะต้องลงประกาศประชาสัมพันธ์บริการของตัวเองตามเว็บไซท์ต่างๆ ทำให้เกิดร่องรอยการลงประกาศว่ามาจากเครื่องไหนนั้นคือ หมายเลข IP นั้นเอง
การสืบหาหมายเลข IP นั้นเมื่อผู้เดือดร้อนแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำหนังสือไปยังกระทรวงดิจิตอลเพื่อให้สืบหาว่าผู้ที่ลงประกาศ เงินด่วน ดังกล่าวเป็นใคร ทางกระทรวงดิจิตอลก็จะค้นหาว่าเจ้าของเว็บไซท์ดังกล่าวเป็นใคร แล้วส่งหนังสือไปยังเจ้าของเว็บ ทางเจ้าของเว็บจะให้ความร่วมมือหรือไม่ หรือนานแค่ไหนกว่าจะตอบก็ไม่อาจจะทราบได้
หากทางเจ้าของเว็บไซท์ตอบหมายเลข IP ไปแล้ว ทางกระทรวงดิจิตอลก็จะทำการตรวจสอบว่า ณ เวลานั้นหมายเลข IP นั้นมาจากไหน หากมาจากร้าน internet cafe ก็ต้องทำการสอบถามไปยังร้านนั้นๆว่า ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นคนใช้เครืองนั้นๆต่อเน็ต ซึ่งร้านไม่มีกล้องวงจรปิดหรือการระบุตัวตนก็ไม่สามารถสืบหาต่อไปได้
หรือหากเป็นหมายเลข IP จากระบบ smartphone ทางกระทรวงดิจิตอลก็จะต้องสอบถามไปยังผู้ให้บริการเพื่อให้ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ SIM ทำให้เหมือนกับกรณีที่ 2 นั้นคือต้องสืบจากเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้ให้บริการเงินด่วนรายนั้นคือเจ้าของเบอร์ตัวจริง
จะเห็นได้ว่า การสืบหาว่าใครคือมิจฉาชีพนั้นยากลำบากมาก ทำให้มิจฉาชีพเงินด่วนมีอยู่เกลื่อนเมือง และหากเหยื่อไม่ระมัดระวังพอ ก็จะหลงตกเป็นเหยื่อของคนปล่อยเงินด่วนจอมปลอมเหล่านีั มิจฉาชีพจะพยายามโน้มน้าวทุกวิถีทางเพื่อให้เหยื่อโอนเงินให้ได้ แม้จะเล็กน้อยก็ตามเพราะถือว่าไม่ได้ลงทุนอะไร บางรายต้องการกู้เงินหลักแสนหลักล้าน ภาพของค่าธรรมเนียมหลักหมื่นจึงอาจจะรู้สึกไม่มาก พอโอนเงินไปแล้วจึงรู้สึกว่าโดนหลอกแล้วพยายามสืบหาตัวคนโกง ก็ต้องบอกว่ายากที่จะรู้ว่าเป็นใคร
ดังนั้นเวลาเราไปแจ้งความ คำถามที่ตำรวจจะถามเราคือ แล้วคุณโง่โอนเงินไปให้เขาทำไม ถ้าผ่านด่านโดนดูถูกนี้ไปไม่ได้ ก็อย่าไปแจ้งความให้เสียความรู้สึกเลยดีกว่า สิ่งที่ต้องท่องไว้อย่างเดียวว่า อย่าโอนเงินก่อนไม่ว่ากรณีใดๆ
ถ้าท่านมีหลักฐานทางการเงินพร้อม และต้องการ กู้เงิน แนะนำว่าให้กู้เงินในระบบจะเป็นการดีที่สุด อาจจะเริ่มจากสวัสดิการเงินกู้ในที่ทำงาน สหกรณ์ของที่ทำงาน ไฟแนนซ์ หรือธนาคาร จะเป็นการดีที่สุด อย่าให้มิจฉาชีพเงินด่วนมาหากินกับความเดือนร้อนของท่านได้
4389 total views, 1 today