เกียรตินาคิน จัดให้ใช้รถยต์ค้ำสินเชื่อ
เกียรตินาคิน จัดให้ใช้รถยต์ค้ำสินเชื่อ
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดเผยว่า ทางธนาคารพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อมากที่สุด และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเอสเอ็มอี
เนื่องจากธุรกิจ SME ถือเป็นรากฐานของประเทศที่จะสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจให้แก่ระบบเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ทางธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สินเชื่อ KK SME รถคูณสาม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของสถาบันการเงินไทยที่ให้ใช้รถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ
วิธีการนี้นับเป็นทางเลือกใหม่ที่ปลดล็อกข้อจำกัดด้านสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ SME ซึ่งส่วนใหญ่มีรถยนต์ไว้ใช้ดำเนินกิจการอยู่แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงอย่างเดียวเหมือนกับธนาคารทั่วไป
อีกทั้งการให้สินเชื่อถึง 3 เท่าของหลักประกันยังตอบโจทย์ความเพียงพอของเงินทุนที่ธุรกิจต้องการ ซึ่งจะได้วงเงินเฉลี่ยมากกว่าสินเชื่อบุคคลหรือสินเชื่อแลกเงิน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยกลับต่ำกว่าสินเชื่อบุคคล
“เราได้ทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ KK SME รถคูณสามอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดี เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้าเอสเอ็มอีได้ตรงจุด โดยธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในปี 2559 ไว้ที่ 4,000 ล้านบาท”
ด้านนายปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ บริษัท ล้มยักษ์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาของธนาคารเกียรตินาคินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเอสเอ็มอี กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเอสเอ็มอีของประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก
จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์มีผู้ประกอบการ SME จดทะเบียนมากกว่า 2.7 ล้านราย ขณะที่ตลาดสินเชื่อSME ทั้งระบบเมื่อสิ้นปี 2557 มีมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาทสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้นในส่วนของธนาคารเกียรตินาคินนั้น เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีรายได้ของกิจการระหว่าง 5-30 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ไทยทั้งหมด ซึ่งยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าอาจจะขาดสภาพคล่องหมุนเวียนบ้าง จึงเป็นช่องว่างที่ธนาคารจะเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มนี้
2009 total views, 1 today