ออมสิน เดินหน้ายุทธศาสตร์สู่ GSB New Era มุ่งพัฒนาสังคม สู่ชีวิตดิจิตอล
ออมสิน เดินหน้ายุทธศาสตร์สู่ GSB New Era มุ่งพัฒนาสังคม สู่ชีวิตดิจิตอล
ธนาคารออมสิน เผยเป้าหมายปี 2559 เดินหน้าตามยุทธศาสตร์สู่ GSB New Era : Digital Transformation Banking “มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับสู่ชีวิตดิจิตอล” พร้อมเดินหน้า 4 ภารกิจหลัก เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์-ช่วยเหลือประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก-ส่งเสริมการออม และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล คาดปีนี้สินเชื่อโต 6-8% เงินฝากขยาย 4-6% ด้านผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2559 กำไรสุทธิ 1,656 ล้านบาท และนำส่งเงินเข้ากองทุน SFI กว่า 800 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 ว่า ธนาคารออมสินดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ สู่ GSB New Era : Digital Transformation Banking “มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับสู่ชีวิตดิจิตอล” ด้วยแนวคิด “ออมสิน ธนาคารแห่งพระราชปณิธาน ส่งเสริม การออม เสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทย”เดินหน้าภารกิจหลัก 4 ด้านสำคัญ คือ เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยเหลือประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการออม และตอบสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นสถาบันที่พระราชทานกำเนิดขึ้นโดยสถาบันกษัตริย์ โดยองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในปีนี้เป็นปีสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธนาคารออมสิน
จึงนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี และทรงเจริญพระชนมายุครบ 88 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2559
“ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเปิดฉายเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ธนาคารออมสินได้ผลิตพร้อมฉายใน โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ และเครือ SF รวมแล้วกว่า 1.2 ล้านรอบ เดือนมิถุนายน จัดทำกระปุกออมสินเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี และในปลายปีจะเผยแพร่สารคดีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติ “สายธาร พระราชไมตรี” เป็นต้น” นายชาติชาย กล่าว
ขณะที่ภารกิจ ด้านการช่วยเหลือประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการออม และตอบสนองนโยบายรัฐบาล นั้น ธนาคารฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการส่งเสริมการออม การสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เยาวชนและประชาชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐ
“ยุทธศาสตร์ที่มุ่งให้บริการลูกค้าและประชาชนอย่างเต็มกำลังนั้น ในปีนี้มีหนึ่งบริการสำคัญที่ธนาคารออมสินจะเดินหน้าคือ e-payment ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนใช้ระบบชำระเงินที่ไม่ต้องถือเงินสด โดยจะออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในรูปแบบบัตรประชาชนผู้มีรายได้น้อย People Card ซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่าน Mobile Banking : MyMo ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้จะอยู่ในกรอบความคิดตามนโยบายรัฐ คือ ความพอเพียง มีวินัยทางการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2559 ธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อที่ 6-8% โดยหากไม่รวมสินเชื่อกลุ่มอาชีพ คาดว่าจะขยายตัว 6.6% และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 17,800 ล้านบาท
“ในปี 2559 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลต่อเนื่องจากช่วงปลายปีจนถึงปัจจุบันได้ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs วงเงิน 150,000 ล้านบาท โครงการบ้านประชารัฐ 30,000 ล้านบาท กองทุนร่วมลงทุนกิจการ SMEs โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 โครงการใหญ่ๆ อย่าง SMEs Startup”
สำหรับผลการดำเนินงานธนาคารออมสินช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 (1 มกราคม-31 มีนาคม 2559) นั้น เนื่องจากต้องหักเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (0.18%) ประมาณกว่า 800 ล้านบาท ธนาคารฯ จึงมีกำไรสุทธิจำนวน 1,656 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 14,041 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ จำนวน 1,129 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยยอดบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 5.3 ล้านบัตร บริการ Mobile Banking ภายใต้แบรนด์ “MyMo” มีถึงกว่า 540,000 ราย Internet Banking อีกกว่า 136,000 ราย และผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “บัตรเครดิตธนาคารออมสิน” ซึ่งเปิดตัวต่อสื่อมวลชนไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 มียอดสมัครแล้วเกือบ 11,000 บัตร
สำหรับภาพรวมของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้ายังคงขยายตัวจากสิ้นปี 2558 แต่เนื่องจากเป็นช่วงการชำระคืนเงินกู้ของลูกหนี้รายใหญ่ทำให้สินเชื่อรวมลดลงสุทธิ 17,659 ล้านบาท โดยมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินเชื่อของธนาคารฯ ขยายตัวได้ โดยเป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน (โครงการเงินกู้ซอฟท์โลน) สินเชื่อเพื่อสังคมและชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) และสินเชื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐ เป็นต้น โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 อยู่ที่ 1,902,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 0.9% จากสิ้นปี 2558
ซึ่งอยู่ที่ 1,919,659 ล้านบาท
“ไตรมาสแรกของทุกปี สินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ได้เติบโตมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของปี และถึงแม้จะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 100,000 ล้านบาท แต่ก็มียอดสินเชื่อคงค้างติดลบไปประมาณ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่มาชำระคืนสินเชื่อ (Replay) ด้วย และขณะนี้ก็เพิ่งจะผ่านมาได้เพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น โดยธนาคารออมสินยังคงเป้าหมายการเติบโตด้านสินเชื่อของปีนี้โตที่ 6-8% และเงินฝากโต 4-6% โดยดูแลให้เป็นไปตามภาวะตลาด เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือประมาณ 3-4 แสนล้านบาท พอร์ตสินเชื่อ 1.9 ล้านล้านบาท ถึงแม้ปล่อยสินเชื่อเยอะ ก็มี Replay มากอยู่ดี ส่วนแนวโน้มข้างหน้า ในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐต้องทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากเป็นสำคัญ” นายชาติชาย กล่าว
นายชาติชาย กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนงานวิเคราะห์และวิจัยเชิงลึกแก่หน่วยงานภายในธนาคารออมสิน และใช้เป็นสัญญาณเตือนสำหรับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้รับรู้ปัญหาและแนวทางป้องกัน ตลอดจนเป็นแนวคิดในด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ธนาคารออมสินจึงเปิด “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน”
โดยศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนให้บริการข้อมูลข่าวสาร/ผลการวิเคราะห์วิจัย โดยที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นหน่วยงาน Think Tank ด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของรัฐที่ให้ธนาคารออมสินเป็นที่พึ่งของประชาชนฐานราก
ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้น ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาครายไตรมาสของธนาคารออมสิน (Government Savings Bank Quarterly Macroeconomic Model: GSB-
QMM) เพื่อใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ วิเคราะห์ผลกระทบ ตลอดจนพยากรณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมทั้งใช้ประกอบการจัดทำรายงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยงานภายในธนาคาร และประชาชนทั่วไป
ขณะเดียวกันก็ได้ออกแบบ และจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index : GSI) ขึ้นมา โดยข้อมูลที่ใช้สร้างดัชนีดังกล่าวได้มาจากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ในระดับฐานรากในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รายได้ที่จะได้รับในอนาคต การออมทั้งในปัจจุบันและอนาคต การก่อหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสถานการณ์การจ้างงาน และการใช้จ่าย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ธนาคารออมสิน ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ติดตาม ภาวะเศรษฐกิจฐานราก และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้ปัญหา และสามารถหาแนวทางในการป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ กิจกรรมสำคัญที่ศูนย์วิจัยฯ วางแผนว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การประมาณการภาวะเศรษฐกิจมหภาค และจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเผยแพร่ในรูปแบบของการแถลงข่าว พร้อมกับเอกสารเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนั้น ยังจะมีการจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ รายงานภาวะเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งบทวิเคราะห์/บทความ/ผลการสำรวจความคิดเห็น (Poll) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก
“การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก จะสอบถามความคิดเห็นของประชาชนระดับฐานรากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท อาทิ กลุ่มเกษตรกรและผู้ค้ารายย่อย ที่มองถึงมุมมองเศรษฐกิจและนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ออกมา ซึ่งจะให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้ดีขึ้น โดยภายใน 1-2 สัปดาห์จะได้ข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจฐานรากเป็นครั้งแรกออกมา ซึ่งหากระดับความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 50 ขึ้นไป ถือว่าประชาชนระดับฐานรากมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจหรือนโยบายของรัฐ”
ทั้งนี้ ผลของการสำรวจความคิดเห็นทุกๆ ครั้ง ทางธนาคารออมสินจะเสนอให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาล เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแนวทางช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าประชาชนระดับฐานรากจะมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการดำเนินโนบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลแน่นอน เพราะที่ผ่านมารัฐบาล โดยธนาคารออมสินมีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินลงสู่ระบบและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นได้ตามที่คาดการณ์ไว้
ข่าวจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
1923 total views, 1 today