นาโนไฟแนนซ์อืดหวั่นหนี้เสียพุ่ง
นาโนไฟแนนซ์อืดหวั่นหนี้เสียพุ่ง
หลังจากที่มีการเปิดบริการนาโนไฟแนนซ์ในช่วงประมาณกลางปี 58 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้สร้างความหวังให้กับผู้มีรายได้น้อยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่ต้องมีหลักประกัน อันน่าจะช่วยผ่อนคลายปัญหาหนี้นอกระบบและช่วยส่งเสริมให้มีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ แต่หลังจากผ่านมาหลายเดือนจนขึ้นปีใหม่แล้ว แนวโน้มดูเหมือนนาโนไฟแนนซ์จะไม่สดใสเท่าที่ควร
หนี้ครัวเรือนพุ่งทะยานไม่หยุด
ปัจจัยต่างๆจากโครงการรัฐบาลในอดีตที่นำกำลังซื้อในอนาคตมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง โครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก ทำให้หนี้ครัวเรือนถีบตัวสูงขึ้นมาก ทำให้สถาบันการเงินต่างต้องหันมาคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลพวงด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มผงกหัวขึ้นเมื่อไหร่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงรายได้ของลูกจ้างและภาคครัวเรือนทั่วประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า รายได้ของครัวเรือนไทยนั้นเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ารายจ่าย โดยสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้เพิ่มจากปี 2556 ที่ 75.8% เป็น 79.2% ในปี 2558 ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วเงินเหลือจ่ายของครอบครัวไทยในปี 2558 อยู่ที่เดือนละ 5,727 บาท ลดลงจากปี 2556 ที่เคยอยู่ที่ 6,144 บาท
NPL เริ่มทะยานสูงขึ้น
ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPK จากธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 พบมียอดคงค้างรวม 3.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.38%
ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังย่ำแย่ ส่งผลให้ประชาชนต้องผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินต่างๆที่ต้องให้ความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น เนื่องจากผลกระทบเป็นลูกโซ่จากกำลังซื้อที่ขาดหายไป และจะมีความเสี่ยงทำให้หนี้ใหม่กลายเป็น NPL เพิ่มขึ้น
ในแง่ของตัวเลขการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในช่วงปีที่แล้วพบว่ามีการปล่อยกู้เพียง 59.01 ล้านบาท จากลูกหนี้เพียง 3,141 ราย ผ่านเพียง 5 บริษัทคือ บริษัท เมืองไทยลีสซิ่ง จำกัด บริษัทเงินสดทันใจ จำกัด บริษัท ไทยเอชแคปปิตอล จำกัด บริษัท สหไพบูลย์ จำกัด และบริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด
จากตัวเลขนี้ถือว่าน้อยอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับเป้าที่แต่ละบริษัทเคยวางเอาไว้ในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ด้วยเพราะนาโนไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน จึงมีความเสี่ยงสูง ผู้มากู้เองก็มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นกัน และส่วนใหญ่การปล่อยกู้ก็เกิดกับลูกค้าเก่าของไฟแนนซ์แต่ละรายที่คัดเลือกลูกค้าประวัติดี ลูกค้าภายนอกหมดสิทธิ์เข้าใช้บริการ
ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงเอง
จากหลักเกณฑ์เบื้องต้นของการปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์คือ ให้กู้ได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมไม่เกิน 36% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบมาก โดยไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ ไม่ต้องมีรายได้ประจำหรือสลิปเงินเดือน
ส่วนผู้ประกอบการนั้นจะต้องได้รับอนุญาต และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อสัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่เกิน 7 เท่า และต้องพิจารณาความเสี่ยงเอง หากเกิดความเสียหายรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ประกอบการเองต้องมีการจัดการความเสี่ยง โดยการเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเก่า เช่นลูกค้าที่เคยขอไฟแนนซ์รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์มาก่อน เลือกผู้ที่มีประวัติดีเพื่อการขยายธุรกิจมากกว่าที่จะเปิดตลาดให้กับลูกค้าใหม่ที่ทางบริษัทไม่เห็นสภานภาพทางการเงินมาก่อน
ผู้ประกอบการพร้อมลุยต่อในปี 2559
แม้ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานจะไม่สดใสมากนัก แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่ยื่นขอใบอนุญาตและรายเก่าๆ ก็ยังสู้กันต่อ อย่าง เมืองไทยลิสซิ่ง ก็ลุยเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในปีใหม่นี้จะเติบโตถึง 50 %
บริษัท ทีเคเงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฐิติกร ก็ซุ่มวางระบบไอที และเปิดบริการให้ลูกค้าเบื้องต้นนำร่อง 10 สาขาก่อน จากทั้งหมด 92 สาขา เพื่อทดลองปล่อยกู้ โดยช่วงแรกก็จะยังเน้นลูกค้าไฟแนนซ์เก่าเช่นเดิม
นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทใหม่ๆ อีกหลายรายที่พร้อมเปิดให้บริการตามหัวเมืองใหญ่ และอีกหลายบริษัทที่กำลังอยู่ในระหว่างการยื่นขอใบอนุญาต
ขอให้รัฐช่วยปล่อย softloan
แม้การปล่อยกู้ยังทำยอดได้ไม่มาก อีกทั้งความเสี่ยงยังสูงเนื่องจากไม่มีหลักประกัน แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังไม่ถึงขั้นจะถอดใจ กลับเรียกร้องให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น เช่นการขอให้ บสย เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ด้วยเป็นต้น
แต่ในประเด็นอาจจะยังทำไม่ได้เนื่องจากตามกฏหมายแล้ว บสย จะค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่เป็นสถาบันทการเงินเท่านั้น แต่บริษัทไฟแนนซ์เหล่านี้เป็น non-bank จึงไม่เข้าข่ายที่จะค้ำประกันได้ ต้องมีการแก้กฏหมายเสียก่อน
ในขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องให้รัฐหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ เหมือนโครงการช่วยเหลือ SME ทางบริษัทไฟแนนซ์จะได้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง เพราะปัจจุบันเงินที่ปล่อยกู้ออกไปนั้น มีต้นทุนทางดอกเบี้ยที่สูงเพราะมาจากการกู้เงินจากธนาคารในลักษณะปกติทั่วไป
อีกข้อเรียกร้องก็คือการขอให้รัฐคุมจำนวนผู้ประกอบการไม่ให้มีมากเกินไป เพราะแม้จะเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน แต่อาจจะทำให้มีการแข่งกันเจ๊งมากขึ้น สุดท้ายประชาชนก็เสียประโยชน์
บทสรุป
ก็คงต้องติดตามดูกันละครับว่า ปี 2559 กิจการนาโนไฟแนนซ์จะดีขึ้นหรือไม่ สภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร รัฐจะมีมาตรการอะไรมากระตุ้นตลาดนาโนไฟแนนซ์บ้าง หรือว่าสุดท้ายไปไม่รอด ถูกลืมเลือนและล้มพับไป
2868 total views, 1 today