ธ.ก.ส. เผยผลงาน 6 เดือน จ่ายเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
ธ.ก.ส. เผยผลงาน 6 เดือน จ่ายเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2560 (1 เมษายน – 30 กันยายน 2560) ว่า
ทาง ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบท ได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 17,843 ล้านบาท ส่งผลยอดรวมของสินเชื่อคงเหลือเป็น 1,294,886 ล้านบาท หรือขยายตัวจากสิ้นปีบัญชี 2559 ที่ 1.40% ทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 2560 ถึง 1,642,487 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้วธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,385,017 ล้านบาท ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 5.75% ของสินเชื่อรวม อีกทั้งธนาคารมีสถานะกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS Ratio ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 12.37% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่ 8.50%
ซึ่งภารกิจที่สำคัญในปีบัญชี 2560 นั้น ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร ผ่านมาตรการและโครงการที่สำคัญ ได้แก่
1. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย จ่ายสินเชื่อไปแล้วจำนวน 56,022 ราย เป็นเงิน 68,542 ล้านบาท และมี SME เกษตรที่เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วกว่า 2,401 ราย
2. การแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 41,108 ราย ลดภาระหนี้นอกระบบได้ จำนวน 4,001 ล้านบาท
3. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ 1,585,031 ราย พื้นที่ 23.76 ล้านไร่
4. โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการรัฐ ปี 2560 มีประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 7.7 ล้านราย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมด 6.16 ล้านราย โดยทาง ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการแจกบัตรสวัสดิการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 ผลการดำเนินงาน ณ 31 ตุลาคม 2560มอบบัตรสวัสดิการไปแล้ว 5.7 ล้านราย
“ในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาถ่ายทอดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ เกษตรกรลูกค้า ครอบครัวและชุมชนผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส.”
และได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับขึ้นเป็น “ชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ” ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม เป็นแกนกลางเหนี่ยวนำชุมชนอื่นๆ ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
โดยปัจจุบันมีชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อแล้วทั้งสิ้น 77 ชุมชนทั่วประเทศ” นายอภิรมย์กล่าวสรุป
1927 total views, 3 today