คืบหน้าแก้หนี้นอกระบบ ล่าสุดอนุมัติพิโคไฟแนนซ์แล้ว 209 ราย
คืบหน้าแก้หนี้นอกระบบ ล่าสุดอนุมัติพิโคไฟแนนซ์แล้ว 209 ราย
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานความคืบหน้า เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า
สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์) นับตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2559 ที่ทางกระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ นับจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 นั้นมีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 418 ราย ใน 66 จังหวัด
โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ นครราชสีมา 42 ราย กรุงเทพมหานคร 34 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย ซึ่งมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้วจำนวน 209 ราย ใน 53 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดให้ บริการเงินกู้ แล้ว 116 ราย ใน 42 จังหวัด และมีผู้ ปล่อยเงินกู้ ออกไปแล้ว 87 ราย ใน 40 จังหวัด
สำหรับการปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์นี้นั้น ผู้ประกอบการสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ เท่านั้น โดยสามารถปล่อยกู้วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี โดยเมื่อถึงเดือนตุลาคม 2560 มีสินเชื่ออนุมัติสะสม 4,849 บัญชี เป็นเงิน 131.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 27,084.55 บาทต่อราย
ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 นั้น ทางธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ทดแทนหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งมีการคิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ซึ่ง ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน 2560 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 180,898 ราย เป็นเงิน 8,131.01 ล้านบาท คิดเป็น 81.31% ของวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยสามารถจำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 169,356 ราย เป็นเงิน 7,620.38 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 11,542 ราย เป็นเงิน 510.63 ล้านบาท
ในแง่ของการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ และผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมของปีงบประมาณ 2560 ต่อเนื่องถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 มีการจับกุมผู้กระทำผิดไปแล้วเป็นจำนวน 1,750 คนด้วยกัน
2035 total views, 1 today