คลังเดินหน้าแก้หนี้นอกระบบ แบงก์ออมสินไล่ล่าราชการเบี้ยวชำระเงินกู้
คลังเร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เตรียมเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ทั่วประเทศ ตั้งเงื่อนไขทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายคิดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี ขณะที่แบงก์ออมสินประกาศ คุมหนี้ข้าราชการ หวังลดหนี้เสีย 1.5% ภายในปีนี้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมออกประกาศกระทรวง เกี่ยวกับการเปิดให้ผู้สนใจเข้าทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ (สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์) เข้ายื่นใบสมัครการประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อกระทรวงการคลัง โดยประกาศดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของรัฐบาลชุดใหม่
“การเปิดให้ผู้สนใจเข้าประกอบธุรกิจสินเชื่อดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการลดปัญหาการปล่อยสินเชื่อนอกระบบ และต้องการให้แหล่งทุนได้เข้าถึงประชาชนรายย่อยได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในจำนวนประชาชน 20 ล้านครัวเรือน มีประชาชนจำนวน 1.3 ล้านครัวเรือน หรือราว 6.6% ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และสามารถเข้าถึงแหล่งทุนผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เอกชน 8.7% ธนาคารพาณิชย์รัฐ 13.7% สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ 8.8% หนี้นอกระบบ 2.9% ผ่านแหล่งทุนอื่น 3.37% ส่วนที่เหลือไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งทุน
สำหรับหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวคือ จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ไม่อนุญาตให้ระดมเงินฝากจากประชาชนได้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ จำกัดพื้นที่การให้บริการภายในจังหวัดที่จดทะเบียน วงเงินสินเชื่อที่ปล่อยจะต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และต้องเป็นสินเชื่อเพื่อนำไปประกอบธุรกิจเท่านั้น ไม่สามารถปล่อยเพื่ออุปโภคบริโภคได้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี
“เหตุที่เราให้คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อทั่วไป เพราะสินเชื่อตัวนี้ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือบุคคลค้ำประกัน ความเสี่ยงจึงสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อทั่วไป แต่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ”
ด้านนายธัชพล กาญจนกูล รักษาการผู้อำนวย การธนาคารออมสิน กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารออมสินมีมาตรการดูแลหนี้กลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และครู ตั้งแต่เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดหนี้ในกลุ่มนี้ลดไปมากเหลือเพียงกว่า 600,000 ล้านบาท จากเดิมปีที่ผ่านมาสูงเกือบ 700,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แนวทางที่นำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จและจะดำเนินต่อในปีนี้ คือคุมหนี้ดีไม่ให้เป็นหนี้เสีย ไม่ปล่อยกู้ใหม่เพิ่ม ดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดี และส่งพนักงานไปหารือกับต้นสังกัดของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม โดยตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือ 1.5% ของสินเชื่อรวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6%.
ข่าวจาก http://www.thairath.co.th/content/445532
2466 total views, 1 today