ครม.ไฟเขียวโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะ 2 ของธนาคารออมสิน
ครม.ไฟเขียวโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะ 2 ของธนาคารออมสิน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้วทาง ครม. ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าวเป็นวงเงินงบประมาณสูงสุดไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป
ซึ่งโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
– จะอนุมัติให้กู้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท
– ระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่เกิน 5 ปี
– คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน
– มีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
โดยการพิจารณาการให้สินเชื่อนั้น จะดูจากความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก ทั้งนี้ผู้ปล่อยกู้สามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรได้ แต่จะไม่นำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาเงินกู้ ซึ่งผู้สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสินนี้ คาดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ประมาณ 2 แสนราย โดยไม่ต้องหันไปพึ่งบริการเงินกู้นอกระบบ อันจะะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบที่มีภาระดอกเบี้ยสูง และในบางกรณีที่มีการติดตามทวงหนี้โดยใช้ความรุนแรงอีกด้วย
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินเชื่อแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เป็นต้น โดยต้องไม่เป็นการ Refinance หนี้ในระบบที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินเชื่อลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงกำหนดเงื่อนไขในการชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan : NPL) ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ ให้ธนาคารออมสินไว้ไม่เกินร้อยละ 40 หรือคิดเป็นวงเงินประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หรือตามที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีสินเชื่อและเงื่อนไขในการชดเชย NPL ในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของ ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ดังนั้น ผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉินสามารถขอสินเชื่อได้ทั้งที่ ธ.ก.ส. และที่ธนาคารออมสิน
3514 total views, 1 today