กู้เงินนาโนไฟแนนซ์ ไม่ใช่จะได้ง่ายๆอย่างที่คิด

กู้เงินนาโนไฟแนนซ์ ไม่ใช่จะได้ง่ายๆอย่างที่คิด
หลังจากการเปิดบริการของนาโนไฟแนนซ์ในบ้านเราขึ้นมา หลายกระแสข่าวลือว่าเป็นนโยบายรัฐบาลในการบริการเงินทุนให้กับบรรดาพ่อค้าในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด รัฐบาลมีหน้าที่แค่ผลักดันนโยบาย ออกกฏหมายเพื่อให้โครงการนาโนไฟแนนซ์เกิดขึ้นได้ แต่บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจการ
ด้วยลักษณะเด่นของนาโนไฟแนนซ์ หรือชื่อภาษาไทยคือสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งหวังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการอิสระเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น แต่หากเรามองในมุมมองของผู้ให้กู้แล้วละก็ เราก็จะเห็นถึงความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้น เช่นการได้เงินกู้ไปแล้วนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือแค่นำไปใช้หนี้เงินกู้นอกระบบเท่านั้น
การปล่อยกู้ของผู้ให้บริการนาโนไฟแนนซ์จึงต้องมีกระบวนการในการคัดครองลูกหนี้ มองศักยภาพความเป็นไปได้ของการประกอบกิจการของลูกหนี้ รวมถึงประวัติความรับผิดชอบของลูกหนี้เอง เนื่องจากหากผิดพลาดลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆในการเรียกหนี้คืนได้เลย
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกหนี้กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบยากอยู่แล้ว แม้บริการนาโนไฟแนนซ์จะดูดี แต่ก็อาจจะเข้าถึงยากอยู่ดี เพราะผู้ให้กู้ก็ดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร ความเสี่ยงที่แบกรับบางครั้งก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่จะได้มาจึงอาจจะมีการปฏิเสธการให้สินเชื่อจำนวนมาก ทำให้ในความเป็นจริงแล้วรายที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากนาโนไฟแนนซ์ หากไปติดต่อธนาคารก็อาจจะได้รับสินเชื่อเช่นกันแถมอัตราดอกเบี้ยยังต่ำกว่าอีกด้วย
ลูกค้ารายหนึ่งบอกเล่าว่าได้ไปติดต่อบริษัทนาโนไฟแนนซ์รายหนึ่งหลังจากตัวเองจดทะเบียนบริษัทได้เพียง 5 เดือน ซึ่งไม่ถึงระยะเวลา 1 ปี ตามที่ธนาคารส่วนใหญ่กำหนดเพื่อที่จะทำธุรกรรมกับธนาคารได้ เลยพกความหวังเต็มเปี่ยมที่จะใช้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เพื่อกู้เงินมาหมุนเวียนในกิจการ และยอมที่จะเสียดอกเบี้ยในอัตรที่สูง
หลังจากยื่นเอกสารได้ 2 สัปดาห์ ทางบริษัทก็ส่งข้อความไปบอกว่าไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งตอนเข้าไปสมัครนั้นเจ้าหน้าที่เคยถามว่ามีบ้านมีรถมาค้ำประกันหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถอนุมัติได้เลย ตอนนั้นก็คิดในใจว่าถ้ามีสินทรัพย์เหล่านั้นก็คงไม่ต้องพึ่งสินเชื่อนาโนหรอก เพราะหากไปขอสินเชื่อกับธนาคารก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่ามาก
ตอนนั้นก็เลยถามว่าถ้าอนุมัติจะอนุมัติเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า อนุมัติเบื้องต้นไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าต่ำกว่าตัวเลขที่ต่ำกว่าการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลที่ 100,000 บาท ทั้งนี้บริษัทก็ชี้แจงว่าบริษัทเองที่ปล่อยกู้ไม่ใช่รัฐบาล จึงต้องมีการเช็คแบล็คลิสท์ด้วย หากติดแบลกลิสท์ก็ไม่ผ่าน เลยสรุปได้ว่ากู้ยากพอๆกับระบบธนาคาร แถมดอกเบี้ยยังสูงกว่ามาก
ความจริงแล้วนาโนไฟแนนซ์ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง ก็ควรจะลดเงื่อนไขลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงนั้นก็น่าจะชดเชยกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ประชาชนที่มากู้นาโนไฟแนนซ์ก็เพราะเข้าระบบธนาคารไม่ได้ หากทางบริษัทสร้างเงื่อนไขให้เหมือนกับธนาคาร ก็เท่ากับว่าเอาเปรียบประชาชนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงแต่กลับเข้มงวดเหมือนธนาคาร สุดท้ายคนจนก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบอยู่ดี
2689 total views, 1 today