การทวงหนี้ของเจ้าหนี้ในระบบ
การทวงหนี้ของเจ้าหนี้ในระบบ
พอดีผู้เขียนเองได้ซื้อบ้านมือสองต่อจากผู้ขายรายหนึ่ง แล้วผู้ขายคนนี้ก็ย้ายไปไม่ทราบที่อยู่ใหม่ สิ่งที่ทิ้งเอาไว้ก็คือจดหมายทวงหนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ได้รับจดหมายที่จ่าหน้าซองว่ามาจากสำนักกฏหมายเป็นจำนวนมาก อาศัยการเขียนหน้าซองว่าย้ายไปแล้ว แล้วก็ส่งคืนไปรษณีย์ไป หรือบางทีหน้าซองก็มีเบอร์โทรอยู่ ก็เลยโทรกลับไปแจ้งบริษัทเหล่านั้นว่า บุคคลที่เขาทวงหนี้ย้ายไปแล้ว วันนี้เลยขอเล่าให้ฟังถึงข้อเท็จจริงของการทวงหนี้กันเลยนะครับ
หลังจากเราไปกู้หนี้ยืมสินมา และหากเป็นการกู้ยืมเงินในระบบ ไม่ว่าจะเป็นบัตรผ่อนสินค้า บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือบัตรสินเชื่ออะไรก็แล้วแต่ เมื่อเราเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ก็จะเริ่มกระบวนการทวงหนี้กับเรา โดยปกติแล้วเมื่อเราได้รับบิลทวงหนี้ ก็จะมีการกำหนดวันเวลาชำระเงินเอาไว้ พอเลยกำหนด เจ้าหน้าที่จากทางบริษัทเจ้าของบัญชีหรือเจ้าของบัตรจะเริ่มโทรมาทวงหนี้
หากเขาติดต่อลูกหนี้ได้ ก็จะมีการขอกำหนดวันว่าให้ชำระหนี้ในวันที่เท่านั้นเท่านี้ และหากเรายังไม่ชำระอีกเขาก็จะโทรมาอีก กระบวนการนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นั่นคือเมื่อเกือบถึงเวลาของรอบชำระเงินถัดไป ก็จะมีจดหมายทวงหนี้อย่างเป็นทางการจากบริษัทเจ้าของบัตรเอง
ผ่านมาในเดือนที่ 2 – 3 ก็จะอาจจะมีจดหมายทวงหนี้ตามมาอีกฉบับเผื่อเราไม่ได้รับ และก็จะมีการโทรมาติดตาม แล้วอาจจะมีการเสนอให้มีการประนอมหนี้ หรือหลอกให้เราโอนเงินชำระหนี้มาบางส่วน หรือหลอกให้เราหยอดเงินเข้าบัญชีไปบ้างนั่นเอง โดยไม่จำเป็นต้องชำระหนี้ทั้งก้อน การจ่ายหยอด และข้อเสียของการชำระเงินแบบนี้จะนำมาเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ
หลังจากนั้นหากยังไม่มีการชำระหนี้อีก ทางบริษัทเจ้าของบัตร จะส่งเรื่องออกไปยังสำนักงานกฏหมายเอกชนให้ทำหน้าที่เป็นผู้ทวงหนี้แทน ระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 4 ถึง 6 เดือน เราจะนับบริษัททวงหนี้นี้ว่าเป็น บริษัททวงหนี้ลำดับที่ 1 การที่ทางบริษัทเจ้าของบัตรต้องให้บริษัททวงหนี้ข้างนอกทำนั่นเพราะ บริษัทต้องการลดต้นทุนที่จะต้องจ้างพนักงานมาคอยโทรทวงหนี้ ทวงแล้วไม่ได้หนี้คืนก็เปลืองเงินเดินรวมทั้งสวัสดิการต่างๆ จึงจ้างเจ้าหน้าที่ติตตามหนี้ไว้จำนวนนึงเท่านั้น
การจ้างบริษัทข้างนอก เนื่องจากมีบริษัทรับทวงหนี้มากมายให้เลือก บริษัทเหล่านี้ไม่ได้รับเงินรายเดือนจากบริษัทเจ้าของบัตร แต่จะอาศัยรายได้จากค่าคอมมิชชั่นหรือส่วนแบ่งจากหนี้ที่ทวงได้แล้วเท่านั้น นั่นคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากงบประมาณของบริษัทเจ้าของบัตร แต่ให้หักเอาจากเงินที่ทวงมาได้เลย
กระบวนการทวงหนี้ ด้วยบริษัททวงหนี้ลำดับที่ 1 นั้น ทางเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินจะเป็นผู้กำหนดราคาค่าส่วนลดหรือที่เราเรียกย่อๆ ว่า Hair Cut อยู่ที่ประมาณ 20 – 30 % ของยอดหนี้ โดยการเสนอให้ชำระยอดที่ลดแล้ว และจะได้ปิดบัญชีกันไป
ถามว่าสถาบันการเงินขาดทุนหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าน่าจะขาดทุนแค่กำไร เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้จะอยู่ที่ 20 – 28% ต่อปี จะเห็นได้ว่า ยอดเงินที่ลูกหนี้เคยผ่อนจ่ายไปนั้นบางทีครอบคลุมเงินต้นไปแล้วก็มี ทำให้ส่วนลดที่เกิดขึ้นก็คือการขาดทุนในส่วนของกำไรแค่นั้นเอง
ต่อมาหาก บริษัททวงหนี้ลำดับที่ 1 ยังทวงหนี้ไม่ได้ ทางสถาบันการเงินก็จะเลิกจ้างรายนี้ และหันไปจ้างสำนักงานกฏหมายที่เป็น บริษัททวงหนี้ลำดับที่ 2 พร้อมกับข้อเสนอส่วนลดในระดับ 30 – 40 % ของยอดหนี้ บริษัททวงหนี้ลำดับ 2 จะเข้ามาในช่วงประมาณเดือนที่ 7 – 9 ของการเริ่มหยุดชำระหนี้
และหาก บริษัททวงหนี้ลำดับ 2 ยังทวงหนี้ไม่ได้ ก็จะมีการจ้างบริษัททวงหนี้ลำดับที่ 3 มาทวงหนี้ต่อ ช่วงนี้จะมีการเสนอ Hair Cut ที่อาจจะสูงถึง 40 – 50% ของยอดหนี้คงค้าง เหตุการณ์นี้จะอยู่ที่ประมาณเดือนที่ 10 – 12
และหลังจากผ่านไป 1 ปี แล้วยังไม่การชำระหนี้ ก็อาจจะมีจ้างบริษัททวงหนี้ ลำดับที่ 4 , 5, 6 ไปเรื่อยๆ จนใกล้จะหมดอายุความถึงจะเริ่มมีการส่งเรื่องฟ้องศาล
ทั้งนี้บริษัททวงหนี้เหล่านี้ มักจะนิยมตั้งชื่อเป็น สำนักงานกฏหมาย หรือ สำนักงานทนายความ เพื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับลูกหนี้ ให้ลูกหนี้กลัวว่าคงโดนฟ้องขึ้นศาลแน่แล้ว จดหมายทวงหนี้จาก บริษัททวงหนี้เหล่านี้ บางครั้งจะมีข้อความชวนให้ตื่นตกใจเช่นเขียนว่า เตรียมส่งฟ้อง พร้อมส่งฟ้อง เป็นต้น
และบางครั้งก็เป็นที่มาของการทวงหนี้แบบไม่ยำเกรงกฏหมาย มีการด่าทอข่มขู่ลูกหนี้ว่าจะจับเข้าคุกเป็นต้น เนื่องจากบริษัททวงหนี้เหล่านี้ หากทวงไม่ได้ ก็ไม่ได้รับค่าจ้าง จึงพยายามทุกวิถีทางในการทวงหนี้
เราจึงควรรู้สิทธิ์ของเราว่า การทวงหนี้ทำไม่ได้ในเวลากลางคืน ห้ามทวงหนี้แบบประจาน และที่สำคัญการเป็นหนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ไม่มีใครจะไปแจ้งตำรวจให้มาจับเราได้ แม้เราจะไม่ไปศาลก็ตาม อย่าให้เขามาข่มขู่เราให้เสียเวลา ต้องพยายามบันทึกเสียง หรือวิดิโอผู้ทวงหนี้ไว้ การข่มขู่ต่างหากที่เป็นความผิดทางอาญาที่เราสามารถแจ้งความกลับได้หากมีหลักฐาน
1951 total views, 2 today