กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมจัดสินเชื่อ 1,000 ลบ.เสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกร
กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมจัดสินเชื่อ 1,000 ลบ.เสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกร
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มเดินหน้าพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องด้านเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการผลิต และการตลาด พร้อมช่วยลดต้นทุนการผลิตแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกร ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาดมากขึ้น
โดยในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรตต่างๆ จำนวน 5,618 แห่ง มีสมาชิกจำนวน 618,841 ครอบครัว เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องเงินทุนให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐาน จะมีการพิจารณาให้ตามศักยภาพของสถานะการเงินของแต่ละกลุ่มเกษตรกร และสภาพของกิจกรรมการผลิตและการตลาดที่นำเสนอตามโครงการ หรือที่มีประวัติเดิมว่าเคยกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้สามารถใช้เครดิตจากวงเงินกู้เดิมได้
การจัดสินเชื่อในครั้งนี้ก็เพื่อนำไปจัดสรรให้กลุ่มเกษตรกรได้กู้ยืมเป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 2,000 กลุ่ม ในพื้นที่ 77 จังหวัด และเงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระคืน 5 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการของกลุ่มเกษตรกรในระดับจังหวัด รวมถึงการเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้และแก้ไขปัญหาของกลุ่มเกษตรกรให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ในการกำหนดเงื่อนไขในการสร้างเงินทุนภายในของกลุ่มเกษตรกร นั่นคือ กลุ่มเกษตรกรที่จะขอรับการสนับสนุนเงินทุน จะต้องทำโครงการ/แผนงาน เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต การรวบรวมและการแปรรูปผลผลิต เพื่อการตลาดผลผลิตทางการเกษตร
หลังจากนั้นจะพิจารณาให้กลุ่มเกษตรกรได้รับเงินกู้เป็นไปตามเงื่อนไขและกรอบวงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และมีระยะเวลากู้หมุนเวียนในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ในแต่ละรอบการผลิตตามชนิดการผลิตของพืช สัตว์ และประมง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องด้านเงินทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่มเกษตรกร
และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการคืนเงินทุนให้กับกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จึงได้กำหนดวิธีการให้เงินกู้เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐานกลุ่มเกษตรกรจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยพิจารณาตามศักยภาพของสถานะการเงินของแต่ละกลุ่มเกษตรกร และสภาพของกิจกรรมการผลิตและการตลาดที่นำเสนอตามโครงการ หรือที่มีประวัติเดิมว่า เคยกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สามารถใช้เครดิตจากวงเงินกู้เดิมได้
“หลักการสำคัญในการให้เงินกู้ยืมแก่กลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่มต้องยึดหลักความมีอิสระ ในการตัดสินใจในการจัดหาปัจจัยการผลิต การแปรรูป เพื่อดำเนินการผลิตและการตลาดด้วยความสมัครใจเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร จากตัวเกษตรกรเอง
เมื่อคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ กำหนดเป้าหมายและกรอบวงเงินกู้ของกลุ่มเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม โดยเรียงลำดับตามความสำคัญแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด จะรับหลักการเป้าหมายดังกล่าวนำไปพิจารณาการให้เงินทุน เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนากลุ่มเกษตรกรเพื่อการกู้ยืมต่อไป” นายสุรพลกล่าวสรุป
ข่าวจาก infoquest
1451 total views, 1 today