ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน – เหตุที่กู้เงินมาลงทุนจากธนาคารไม่ได้
ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน – เหตุที่กู้เงินมาลงทุนจากธนาคารไม่ได้
บทความนี้เป็นคำแนะนำทางการเงินแนวมินิซีรีส์นะครับ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้เรากู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่อนำมาลงทุนแล้วไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งประเด็นหลักประเด็นแรกที่จะกล่าวถึงก็คือการที่ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่หลังจากเริ่มดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะเริ่มเห็นแนวทางในการขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มเติม ความหวังส่วนใหญ่ก็จะฝากไว้กับการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยมองภาพว่ากิจการกำลังไปได้ดี ธนาคารน่าจะเห็นด้วยและให้กู้แน่ๆ โดยอาศัยตัวธุรกิจเองเป็นหลักประกัน แต่พอยื่นกู้แล้วไม่ผ่านนั้นประเด็นสำคัญก็มาจากการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั่นเอง
การไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน นั้นมักจะเป็นปัจจัยลำดับต้นๆที่ทำให้ผู้ประกอบการขอสินเชื่อไม่ได้ เนื่องจากในระบบธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเรียกหลักประกันสำหรับการค้ำประกันเสินเชื่อที่ปล่อยออกไปตามข้อกำหนดของกฏหมาย การปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกัน จะทำให้เงินฝากของบุคคลทั่วไปที่ฝากอยู่กับสถาบันการเงินเหล่านั้นเกิดความเสี่ยง เจ้าหน้าที่สินเชื่อไปจนถึงผู้บริหารมีความเสี่ยงถึงขั้นการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายได้
ดังนั้นธนาคารและสถาบันการเงินจึงมีความจำเป็นต้องเรียกหลักประกัน เพียงแต่ว่าหลักประกันดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบใดก็ว่ากันไปตามรูปแบบและเงื่อนไขของการกู้เงินอีกที ดังนั้นผุ้ประกอบการรายใหม่จึงมักจะเป็นรายเล็กๆ ยังไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะค้ำประกันเงินกู้ได้ ไม่ว่าจะเป็น โฉนดที่ดิน บ้าน อาคารชุด เพราะส่วนที่มีอยู่เดิมนั้นอาจจะเป็นเพียงบ้านพักอาศัยและยังติดจำนองกับสถาบันการเงินอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาจำนองได้อีก
แม้บางกรณีจะมีธนาคารบางแห่งเช่น ธนาคาร SME BANK หรือแม้แต่ธนาคารออมสินเองที่ออกสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล ในลักษณะของการที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มักจะต้องมีบุคคลมาค้ำประกันแทนเช่นข้าราชการหรือบุคคลที่มีงานการมั่นคง ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายนักที่จะหาผู้มีคุณสมบัติเหล่านั้นมาค้ำประกันให้เราได้ แม้จะหาได้ก็ใช่ว่าใครจะมาค้ำประกันให้กันได้ง่ายๆ เพราะเหมือนเอากระดูกไปแขวนคอไว้ ค้ำไปแล้วต้องใจตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะต้องไปใช้หนี้แทนหรือไม่ ทำให้สินเชื่อในลักษณะการใช้ผู้ค้ำประกันมีไม่มากนัก หากมีก็เป็นวงเงินน้อย ส่วนโครงการที่ไม่ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันจริงๆ ก็มักจะให้สินเชื่อวงเงินเพียงเล็กน้อยราว 50,000 ถึง 100,000 บาท
ทำให้ปกติแล้วผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเงินวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 200,000 บาท ขึ้นไปจนถึง 1,000,000 บาทนั้น จะต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการเองอาจจะไม่คุ้นเคยกับระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อในลักษณะ SME เพราะมักจะคุ้นเคยกับสินเชื่อเคหะที่สามารถผ่อนได้ระยะยาว 20 – 30 ปี และอัตราดอกเบี้ยอยู่ราวๆ 4 – 6 % ต่อปี
แต่สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการจะมีระยะเวลาที่สั้นกว่ามาก เช่นมีกำหนดระยะเวลาให้กู้แค่ 3 – 7 ปี และอัตราดอกเบี้ยประมาณ 9 – 10 % ต่อปี เลยพอได้รับข้อมูลก็จะบ่นกันว่าให้กู้ระยะเวลาสั้นเกินไป หรือคิดดอกเบี้ยสูงเกินไป
ประเด็นต่อมาแม้มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกันแล้ว ต่างก็คาดหวังยอดเงินกู้สูงๆ แต่ความจริงแล้วธนาคารจะให้กู้จำนวนเท่าไหร่ นอกจากจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระคืนแล้ว ยังอาจจะให้วงเงินสินเชื่อเพียง 50 – 80 % ของราคาประเมินหลักทรัพย์เท่านั้น เนื่องจากอาจจะเป็นในแง่ของการเสื่อมราคา หรือภาวะตลาดที่ราคาซื้อขายจริงอาจจะต่ำกว่าราคาประเมินก็เป็นได้
ดังนั้นการจะกู้เงินจากธนาคารได้หรือไม่ได้ ปัจจัยสำคัญก็คือต้องหาหลักทรัพย์ที่ปลอดภาระผูกพันธ์ให้ได้ก่อนเช่น บ้าน หรือที่ดิน เครื่องจักร หรือแม้แต่ที่ตั้งของสถานประกอบการเอง ไม่ว่าจะเป็นของตัวเอง ของญาติ หรือพ่อแม่ก็ได้ ถึงจะมีโอกาสได้รับการพิจารณาจากธนาคารในการปล่อยสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจได้
10121 total views, 1 today