พิโคไฟแนนซ์ ปล่อยกู้คนจนเอาไปใช้หนี้นอกระบบ หรือจับจ่าย
พิโคไฟแนนซ์ ปล่อยกู้คนจนเอาไปใช้หนี้นอกระบบ หรือจับจ่าย
กระทรวงการคลังเตรียมชงแพ็กเกจแก้หนี้นอกระบบเข้าครม. สศค. เสนอไอเดียเปิดโครงการสินเชื่อเพื่อประชาชนใช้บริโภคกรณีฉุกเฉิน หรือ พิโคไฟแนนซ์ (Pico Finance) ปล่อยกู้ 5 หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุน มีเงินไปใช้หนี้เงินกู้นอกระบบหรือจับจ่ายในชีวิตประจำวัน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างรวบรวมมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบแบบเบ็ดเสร็จ โดยจะนำมารวมเป็นแพ็กเกจใหญ่ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ
โดยในเบื้องต้นนั้นทาง สศค. ได้เสนอเปิดโครงการสินเชื่อเพื่อประชาชนใช้บริโภคกรณีฉุกเฉิน หรือเรียกว่า พิโคไฟแนนซ์ โดยกำหนดวงเงินรวมสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและนำไปแก้ไขหนี้นอกระบบได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ พิโคไฟแนนซ์ จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินกู้นอกระบบที่สูงจนเกินควรได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนสามารถกู้ยืมเพื่อไปแก้ไขหนี้นอกระบบและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ต่างจากโครงการสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน รายย่อย (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) ที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพเท่านั้น
นอกจากนี้สศค.ยังกำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พิโคไฟแนนซ์ (Pico Finance) ให้มีความครอบคลุมมากขึ้นโดยกำหนดพื้นที่เป็นรายจังหวัด ตามหัวเมืองต่าง ๆ แต่ละแห่งอย่างชัดเจน ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อข้ามเขตได้ ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเชื่อว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
“ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตจากกระทรวงการคลังในการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บรวม กันแล้วต้องไม่เกิน 36% ต่อปีเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจ ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยง แต่อยู่ ในระดับที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากจนเกินควร”
นายกฤษฎากล่าวว่าส่วนมาตรการเพิ่มเติมที่อยู่ในแพ็กเกจแก้ไขหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย การคุมเจ้าหนี้นอกระบบต้องคิดดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ผ่านแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. …. ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ที่เพิ่มโทษทางอาญาแรงขึ้น
ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเกิน 15% เพื่อควบคุมเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติกรรมรุนแรงและช่วยป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากประชาชน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกลุ่มกระบวนการที่เป็นลักษณะนายทุนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะถูกเพิ่มโทษอีกครึ่งหนึ่ง
ขณะเดียวกันจะมีมาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เบื้องต้น ธนาคารออมสินจะให้ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาขอสินเชื่อผ่านโครงการธนาคารประชาชนที่คิดดอกเบี้ยเพียง 0.75-1% ต่อเดือนวงเงินรายละไม่เกิน 200,000 บาทไม่ต้องบุคคลค้ำประกัน โดยมอบหมายให้วิสาหกิจชุมชน และสมาคมต่างๆ ช่วยคัดกรอง และเข้ามาดูแลประชาชนกลุ่มนี้ หลังจากได้รับสินเชื่อไปแล้ว ก็ให้ชำระหนี้ตามกำหนด และดูแลไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบอีก
ข่าวจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า
24639 total views, 2 today